นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธันวาคม 2567 เท่ากับ 108.28 เทียบกับพฤศจิกายน 2567 ลดลง 0.18% เทียบกับเดือนธันวาคม 2566 เพิ่มขึ้น 1.23% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฐานปีก่อนราคาต่ำ รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อทั้งปี 2567 (มกราคม-ธันวาคม) เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5%
เงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2567 ที่สูงขึ้น 1.23% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.28% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ กลุ่มผลไม้สด (เงาะ มะม่วง กล้วยน้ำว้า ทุเรียน แตงโม สับปะรด กล้วยหอม) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูปน้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม น้ำพริกแกง) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า) และกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ปลานิล กุ้งขาว ปลาทูนึ่ง ปลาทับทิม) ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด(พริกสด มะเขือเทศ มะนาว ผักคะน้า กะหล่ำปลีผักกาดขาว ผักชี) ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่ย่าง นมเปรี้ยว น้ำมันพืช และอาหารโทรสั่ง (Delivery) เป็นต้น
ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.21% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซินและยังมีค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบินค่ารถรับ-ส่งนักเรียน และค่าบริการส่วนบุคคล(ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาซักแห้งน้ำยาล้างห้องน้ำ) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรีเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษและสตรี) เป็นต้น
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนธันวาคม 2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2567 และเพิ่มขึ้น 0.79% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 เฉลี่ยทั้งปี 2567 (มกราคม-ธันวาคม) เพิ่มขึ้น 0.56%
แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.25% และไตรมาส 1 ปี 2568 เฉลี่ยจะสูงกว่า 1% ส่วนไตรมาส 2 และ 3 จะลดลงไม่น่าถึง 1% จากนั้นจะกลับมาสูงขึ้นในระดับ 1% ขึ้นไปในไตรมาสที่ 4 รวมเงินเฟ้อทั้งปี 2568 จะอยู่ระหว่าง 0.3-1.3% ค่ากลาง0.8% โดยมีสมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.3-3.3% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐและยังมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันดีเซลที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2567
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่จะฉุดให้เงินเฟ้อลดลงอาทิ ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG ฐานราคาผักและผลไม้สด ปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ ส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงหรือต่ำ จากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนนโยบายส่งออกสินค้าเกษตรของผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ข้าว น้ำมันปาล์ม ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เบื้องต้นไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
สมาคมธนาคารไทยออกแถลงการณ์ สนับสนุนการยกระดับนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของสถาบันการเงินเกี่ยวกับการทำธุรกรรมกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูง
สมาคมฯและธนาคารสมาชิก ดำเนินธุรกิจภายใต้จรรยาบรรณธนาคาร (Banking Industry Code of Conduct) อย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคมและประชาคมโลกและตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและห้ามทำธุรกรรมทางเงินเพื่อสนับสนุนการก่อการร้ายหรือสงครามที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบขององค์กรกำกับดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินไทย
จึงพร้อมสนับสนุนธปท.และปปง.ในการยกระดับนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของสถาบันการเงินเกี่ยวกับการทำธุรกรรมกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงและการดูแลความเสี่ยงเกี่ยวกับการคว่ำบาตร โดยสมาคมฯ และธนาคารสมาชิก พร้อมยกระดับนโยบายและการจัดการการบริหารความเสี่ยงให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งยกระดับมาตรการบริหารความเสี่ยงด้าน AML/CFT กระบวนการภายในในการประเมิน ติดตาม ตรวจจับ แจ้งเตือนเมื่อพบความผิดปกติให้สอดคล้องกับ RiskProportionately โดยจัดทำแนวทางการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเข้มข้น และแนวทางการตรวจสอบสินค้าที่ใช้ได้สองทางของภาคธนาคาร เพื่อเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติงานของธนาคารสมาชิกเกี่ยวกับการเปิดบัญชีเงินฝากและการสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินตัวแทนในต่างประเทศ เพื่อป้องกันภัยจากการฟอกเงิน ภัยจากการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และภัยจากสงครามให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี