ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจ และการเงินไทยปี 2568 โดยแจ้งข่าวว่า
บทสรุปผู้บริหาร
• เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะเติบโตช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อย ตามแรงหนุนท่องเที่ยว ส่งออกที่ลดลง ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว
• สงครามการค้ารอบใหม่คาดว่าจะส่งผลสุทธิเป็นลบต่อเศรษฐกิจไทย และเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มการส่งออกในปี 2568 โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าด้วยสูงสุด ทำให้มีความเสี่ยงจะโดนมาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงจากการส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ ลดลง และทางอ้อมจากการแข่งขันที่สูงขึ้นกับสินค้าจีนทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก
• ปี 2568 จะยังเป็นปีที่ปั่นป่วนสำหรับภาคธุรกิจ นอกจากผลของสงครามการค้า มาตรการรัฐบางเรื่องอาจกระทบต้นทุน และประเด็นเชิงโครงสร้างสะสม ทำให้สถานการณ์โดยรวมคงไม่ดีขึ้นได้มากนักจากปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไทยจะยังฟื้นตัวต่างกัน และมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการขนาดกลางลงล่างในภาคการผลิตจะลดจำนวนลงอีก
• นอกจากนี้ จะยังคงเห็นสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยเติบโตอย่างช้าๆ และอยู่ในระดับต่ำในปี 2568 สอดคล้องกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
เศรษฐกิจไทยปี 2568
เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่า จะเติบโตช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อย ตามแรงหนุนท่องเที่ยว ส่งออกที่ลดลง ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวแรงส่งจากท่องเที่ยวต่อ GDP เริ่มลดลงหลังจำนวนเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด โมเมนตัมการเติบโตของการท่องเที่ยวปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 35.6 ล้านคน มาอยู่ที่ 37.5 ล้านคน ในปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเดินทาง
การบริโภคภาคเอกชนซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากกำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทิศทางสินเชื่อที่โตช้าลง ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสถัดๆ ไปในวงเงินงบประมาณอีกราว 1.8 แสนล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนราว 0.2-0.3% ของ GDP
การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2568 ได้แรงหนุนจากฐานที่ต่ำ และการเบิกจ่ายต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2568 โดยกรอบงบลงทุนภาครัฐในปี 2568 เพิ่มขึ้น 7.8% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นราว 2.0% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่คาดว่า อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 75-80% สูงกว่า 65% ในปี 2567 การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการหดตัวที่เกิดขึ้นในปี 2567 สอดคล้องกับมูลค่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนเม็ดเงินลงทุนในวัสดุอุปกรณ์ (Equipment) ให้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายการผลิตของจีนหลังจากการเกิดสงครามการค้ารอบแรกโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลต่อการไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ Data Center ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในการลงทุนการผลิตรถยนต์ EV ในไทย จากภาวะตลาดโลกที่เผชิญภาวะอุปสงค์ลดลง ท่ามกลางอุปทานสูง ส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้การเข้ามาลงทุนผลิตนถยนต์ EV ในไทยล่าช้าออกไป
นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้ากับไทย ในรายการที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้ากับไทยสูง หรือในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของจีนก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนจริงของนักลงทุนต่างชาติ
ในขณะที่ สงครามการค้ารอบใหม่คาดว่า จะมีผลสุทธิเป็นลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าด้วยสูงสุด ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ราว 2.5% แม้จะได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม สำหรับความคาดหวังต่อผลบวกจากสงครามการค้ารอบใหม่ที่จะส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาเพิ่ม ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อนิคมอุตสาหกรรม อาคารสำนักงานนั้น ยังคงมีความไม่แน่นอน ต้องรอการวางกลยุทธ์ของซัพพลายเชนต่างๆ และจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการดึงดูด FDI ของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย
- ผลกระทบทางตรง: การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอลง ซึ่งสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มที่ไทยได้รับอานิงส์จากการเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตของจีนมายังไทยในสงครามการค้ารอบแรก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ และยางรถยนต์ ขณะเดียวกัน ไทยอาจถูกเรียกร้องให้นำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ในกลุ่มที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯน้อยเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากโลก ยิ่งหากเป็นสินค้าที่สหรัฐฯมีความได้เปรียบในด้านการผลิตและมีการส่งออกไปยังตลาดโลกเป็นอันดับต้นๆ เช่น ปิโตรเลียม อุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนสินค้าที่ไทยยังไม่ได้เปิดตลาดเต็มที่อย่างสินค้าเกษตร อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี เนื้อสัตว์ เป็นต้น
- ผลกระทบทางอ้อม: การแข่งขันกับสินค้าจีนทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นการเข้ามาในไทยของสินค้าจีนที่มีข้อได้เปรียบด้านราคาอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมจีนที่มีมาก ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น และมีผลกลับมายังภาคผลิตของไทย อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก และเสื้อผ้า เป็นต้น และหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 60% ภาคการผลิตไทยคงจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการไหลเข้ามาของสินค้าจีนในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คงขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและขนาดการปรับขึ้นภาษี ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและประเภทสินค้า
นอกจากนี้ ภาคบริการอย่างการท่องเที่ยว ก็คงจะได้รับผลกระทบมากขึ้นหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแรงกว่าคาด เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นอันดับหนึ่งของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย
ภาคการผลิตไทยยังมีแนวโน้มอ่อนแอ จากประเด็นเชิงโครงสร้างภาคการผลิตของไทยที่ผลิตสินค้าไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก โดยร้อยละ 10 ของ GDP ยังเป็นการผลิตที่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เครื่องหนัง พลาสติก วัสดุก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งมีความสามารถทางการแข่งขันที่ลดน้อยถอยลงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และยังเผชิญต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ในขณะที่แนวโน้มข้างหน้าจะเจอการการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเข้ามาของสินค้าจีนทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก จะยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อภาคผลิตไทย
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ราว 0.7% ภายใต้สมมติฐาน ภาครัฐมีแนวโน้มจะยังคงราคาพลังงานในประเทศในระดับใกล้เคียงปี 2567 แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง แต่ราคาขายปลีกพลังงานในประเทศคงไม่ลดลงมากเท่ากับการลดลงของราคาพลังงานในตลาดโลก เนื่องจากภาระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกฟผ. ที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งราคาอาหารสดคาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามฐานราคาเนื้อหมูที่อยู่ในระดับต่ำในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 หลังจากราคาเนื้อหมูทยอยพลิกกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาส 4/2567 2) ขณะที่มาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 มาอยู่ที่เฉลี่ย 355 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.9% คาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นราว 0.08% อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในปี 2568 ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปภาษี
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปี 2568 อีก 2 ครั้ง ลงมาอยู่ที่ราว 1.75% ณ สิ้นปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของธปท. ที่ 1-3% อย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมไทย ท้าทายต่อเนื่อง
ปี 2568 จะยังเป็นปีที่ปั่นป่วนสำหรับภาคธุรกิจ จากปัจจัยกดดันทั้งในและต่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมไทยจะฟื้นตัวต่างกันสถานการณ์อุตสาหกรรมไทย คงจะไม่ดีขึ้นได้มากนัก จากแรงกดดันในต่างประเทศ ทั้ง 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักในโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป 2.ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่หากขยายวงไปมากกว่าที่กังวล จะกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง ราคาสินทรัพย์ต่างๆ (พลังงาน วัตถุดิบ อัตราแลกเปลี่ยน) ให้มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น และ 3.ผลของสงครามการค้ารอบใหม่ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ จะมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการค้าและการลงทุนของอุตสาหกรรมไทยดังได้กล่าวข้างต้น จึงต้องติดตามรายละเอียดเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ มาตรการภาครัฐบางเรื่องอย่างการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 2.9% ทั่วประเทศ จาก 345 บาท/วัน เป็น 355 บาท/วัน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 โดยมี 4 จังหวัด (ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) กับ 1 อำเภอ (เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี) ที่แตะ 400 บาท/วัน ซึ่งมองว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีกไม่ต่ำกว่า 2% (ปัจจัยอื่นคงที่) และอาจกระทบมาร์จิ้นธุรกิจให้ลดลง โดยเฉพาะในธุรกิจที่ใช้แรงงานทักษะน้อยในสัดส่วนสูง ได้แก่ เกษตร ก่อสร้าง ที่พักแรมและร้านอาหาร ค้าปลีก รวมถึงการผลิต
สำหรับแผนการปฏิรูประบบภาษี โดยเฉพาะการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ที่ 15% สำหรับบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้รวมเกิน 750 ล้านยูโรต่อปี ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ OECD Pillar 2 ซึ่งหากบริษัทข้ามชาติใดมีอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% จะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม (top-up tax) เพื่อให้ถึง 15% ตั้งแต่ปี 2568 ภายใต้พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อ 26 ธันวาคม 2567 นั้น คงจะส่งผลกระทบต่อบริษัทข้ามชาติที่เข้าข่าย ทำให้การลงทุนในไทยน่าสนใจน้อยลงขณะเดียวกัน ประเด็นเชิงโครงสร้างด้านความสามารถในการแข่งขัน หนี้ที่สูง การเป็นสังคมสูงวัย ก็ล้วนจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ แม้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ของภาครัฐ จะกระตุ้นบรรยากาศการลงทุน แต่ผลบวกของโครงการต่างๆ เช่น ดิจิทัล พลังงานสะอาด ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (Entertainment Complex) กว่าจะเริ่มต้นลงทุนคงต้องใช้เวลา และอานิสงส์น่าจะตกอยู่กับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่หรือธุรกิจร่วมทุนกับต่างชาติที่มีความพร้อมในด้านต่างๆ (เงินทุน เทคโนโลยี แรงงาน) เป็นหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ในปี 2568 อุตสาหกรรมไทยจะยังฟื้นตัวต่างกัน โดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
1.กลุ่มที่จะดีขึ้นกว่าปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสุขภาพ (โรงพยาบาลเอกชน อาหารและเครื่องดื่ม) สอดรับไปกับเทรนด์การใส่ใจดูแลสุขภาพของผู้บริโภค และการเป็นสังคมสูงวัยทั้งในไทย และหลายประเทศทั่วโลก โดยประเมินว่า รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2568 จะขยายตัวที่ 7.0% เร่งขึ้นจากที่เราประเมินไว้ที่ 6.3% ในปี 2567
2.กลุ่มที่ยังขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน ได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ขนส่งและคลังสินค้า เนื่องจากแรงส่งการฟื้นตัวหลังโควิดของการท่องเที่ยวจะเริ่มแผ่วลง ประกอบกับมีความท้าทายจากกำลังซื้อทั้งใน และต่างประเทศท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อีกทั้งในฝั่งผู้ประกอบการก็เผชิญการแข่งขันที่สูงในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพซึ่งอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่า รายได้การท่องเที่ยวจากทั้งชาวต่างชาติ และคนไทยเที่ยวในประเทศปี 2568 จะยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดในปี 2562 ที่ 3 ล้านล้านบาท มูลค่าค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2568 จะขยายตัว 3.0% ชะลอลงจากปี 2567 ที่เติบโต 4% รวมทั้ง อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังเผชิญโจทย์ความสามารถในการแข่งขัน โดยคาดมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2568 จะเติบโต 1.6% ชะลอลงจากปี 2567 ที่ขยายตัวเกือบ 10%
3.กลุ่มที่หดตัวจากปีก่อน ได้แก่ สินค้าคงทนทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ จากแรงฉุดกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่หากเทียบกับอุปทานในตลาดที่มีอยู่มาก โดยประเมินว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปี 2568 จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หรืออยู่ที่ราว 336,000 หน่วย เทียบกับ 340,000 หน่วยในปี 2567 และยอดขายรถยนต์ในประเทศจะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หรืออยู่ที่ราว 530,000 คัน เทียบกับราว 570,000 คันในปี 2567
หากพิจารณาในมิติขนาดของธุรกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มที่เสี่ยงคือ ธุรกิจขนาดกลางลงล่าง (MSME) ในภาคการผลิต ซึ่งเผชิญปัญหาสะสมจนแข่งขันไม่ได้มากขึ้นๆ ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้อาจปรับลดลงอีกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เคมีภัณฑ์ โลหะ แฟชั่น ส่วนในภาคการค้าและบริการ ได้แก่ ที่พักแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก แม้จำนวนผู้ประกอบการอาจเพิ่มขึ้น ตามการหมุนเวียนเข้าออกที่รวดเร็ว แต่การแข่งขันที่สูงขึ้น ท่ามกลางการใช้จ่ายที่ยังระมัดระวังของผู้บริโภค ทำให้การรักษายอดขายเพื่อยืนระยะทางธุรกิจก็คงจะไม่ง่ายเช่นกัน
สินเชื่อและหนี้ครัวเรือนปี 2568 เติบโตต่ำ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2568 จะยังคงเห็นสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยเติบโตอย่างช้าๆ และอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมสถานการณ์สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบแบงก์ไทย) ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในปี 2568 โดยคาดว่า ภาพรวมสินเชื่อระบบแบงก์ไทยอาจเติบโตในระดับต่ำที่ประมาณ 0.6% แม้จะเป็นระดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่คาดว่า สินเชื่อจะปิดสิ้นปี 2567 ในแดนลบ หรือหดตัวลงประมาณ 1.8% แต่ก็คงต้องยอมรับว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับดังกล่าวเป็นระดับที่ไม่สูง และต่ำกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Nominal GDP Growth) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ไม่เพียงมีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อและความสามารถในการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน แต่ยังมีผลต่อการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตและการเฝ้าระวังดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ในฝั่งของสถาบันการเงิน หลังจากที่ข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 3/2567 สะท้อนว่า สินเชื่อด้อยคุณภาพ (หรือ NPLs) และสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (หรือ Stage 2) ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สินเชื่อธุรกิจมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าสินเชื่อรายย่อยในปี 2568 โดยคาดว่า สินเชื่อธุรกิจในภาพรวมอาจพลิกจากที่หดตัวลงตลอดช่วงปี 2565-2567 มาขยายตัวที่ระดับประมาณ 1.5% ท่ามกลางอานิสงส์จากบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐในปี 2568 ที่น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปี 2567 อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนของสินเชื่อธุรกิจอาจเริ่มจากการทยอยเบิกใช้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่อเพื่อการลงทุนของธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่การฟื้นตัวของสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางข้อจำกัดในการฟื้นตัวของธุรกิจ เพราะต้องเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอ การแข่งขัน และการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม
สำหรับสินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทย คาดว่า สินเชื่อรายย่อยยังคงมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องในปี 2568 โดยอาจหดตัวลงประมาณ 1.0% ต่อเนื่องจากที่คาดว่าจะหดตัวลงประมาณ 2.0% ในปี 2567 เนื่องจากกรอบการฟื้นตัวที่จำกัดของรายได้ในภาคครัวเรือนและภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิม มีผลกระทบต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะหนี้ที่มีวงเงินต่อสัญญาที่ค่อนข้างสูง เช่น หนี้บ้าน และหนี้รถยนต์ ดังนั้น หากถอยออกมาประเมินภาพที่ใหญ่ขึ้นเป็นสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2568 คาดว่า อัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจชะลอลงต่อเนื่อง และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 85.0-87.5% ในปี 2568 ซึ่งแม้จะต่ำลงจากกรอบประมาณการสำหรับปี 2567 ที่ 88.5-89.5% แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับยั่งยืนที่ 80.0% ต่อจีดีพีตามการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS)
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูลข่าว
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามรายละเอียดของเนื้อหาข่าวได้อีกครั้งตามลิงก์นี้
https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Th-Econ-FB-10-01-24.aspx
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี