นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ให้เติมเต็มห่วงโซ่อุตสาหกรรมในปัจจุบัน และมีระบบการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืนเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่ตั้งใจเดินหน้าโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมทั่วโลกย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อนาคต ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิต และบริการ รวมถึงสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคดิจิทัล เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการ “ผลัดใบเศรษฐกิจ” ในศตวรรษที่ 21 ให้กับไทย รวมทั้งมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ดีพร้อมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการยกระดับศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และเกิดความเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคการผลิต ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 5.0 ทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านการพัฒนาต่อยอดกระบวนการผลิต และด้านผลิตภัณฑ์ในการยกระดับศักยภาพและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากล โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 100 ล้านบาท
“ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือและการประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อร่วมกันพัฒนางาน แก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น”นางสาวณัฏฐิญา กล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความร่วมมือกับดีพร้อมในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยดีพร้อมและ ส.อ.ท.จะเข้าไปให้การส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรืออุตสาหกรรม 5.0 อาทิ ด้านการพัฒนาบุคลากร การพัฒนากระบวนการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ยังร่วมกันให้การสนับสนุนส่งเสริม พัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และบุคคลทั่วไป ให้มีความตระหนักและสามารถเพิ่มทักษะด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และบุคคลทั่วไป รวมทั้งยังได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการซึ่งความร่วมมือนี้มีระยะเวลา 3 ปี
โดยโครงการนี้ตั้งเป้าที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.กว่า 16,000 ราย จะเป็นการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะได้รับการพัฒนาภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นแบบอย่างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นๆใช้เป็นต้นแบบในการยกระดับภาคการผลิตต่อไปในอนาคต
“การปรับตัวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ 5.0 เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยให้เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง เนื่องจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้าน ESG หรือการผลิตที่ยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆสิ่งนี้จะทำให้สินค้าไทยก้าวข้ามกำแพงการกีดกันด้านสิ่งแวดล้อมได้เหนือกว่าประเทศอื่น”นายเกรียงไกร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี