ตำรวจไซเบอร์ฟันธง
มือถือOPPO-Realme
แอบติดตั้งแอปฯเงินกู้
ผิดพรบ.คอมพิวเตอร์
OPPO ประกาศยุติการติดตั้งแอปฯ สินเชื่อล่วงหน้าบนอุปกรณ์เริ่ม 14 มกราคมนี้ ด้าน ตำรวจไซเบอร์ ชี้ 2 ยี่ห้อมือถือ เป็นผู้พัฒนาแอปฯ ปล่อยกู้เถื่อนเองเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.คอมพ์ ขณะที่ สคบ.สอบเข้ม Oppoและ realmeใครเป็นนายทุนปล่อยกู้ “ประเสริฐ”เตรียมเรียก 2 แบรนด์ดังมาเเจงเพิ่ม หลังคุยไม่เคลียร์
จากกรณีที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน 2 แบรนด์ดัง คือOPPO และ realmeแล้วพบว่ามี แอปพลิเคชั่นกู้เงิน ติดตั้งมาพร้อมกับเครื่องในลักษณะ System App ซึ่งลบออกเองไม่ได้โดยผู้ใช้งานทั่วไป ทำให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลตามที่เป็นข่าวนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 02.16 น. วันที่ 14 มกราคม 2568 ทาง OPPO ได้ส่งจดหมายชี้แจงให้สื่อมวลชน เนื้อหาระบุถึง “มาตรการ และแนวทางแก้ไขปัญหาอันเป็นรูปธรรม”ข้อความในจดหมายชี้แจงจาก OPPO ถึงกรณี “แอปเงินกู้” ระบุว่า”OPPO ขออภัยอย่างยิ่งต่อความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานบางแอปพลิเคชันในช่วงที่ผ่านมา เราให้ความร่วมมือ และทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการทันทีดังนี้ :ในช่วงเย็นวันที่ 13 มกราคม 2568แอปพลิเคชัน Fineasyได้ออกประกาศภายในแอป เพื่อระงับการให้บริการแล้วเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โทรศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการติดตั้งแอปFineasyล่วงหน้าจะไม่ถูกจำหน่ายอีกต่อไป
ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนจะได้รับการอัปเดตOTA (Over-the-Air) ซึ่งเป็นเวอร์ชันระบบใหม่ที่ไม่มีการติดตั้งแอปฯFineasyอีกต่อไป
ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม เป็นต้นไป จะหยุดการติดตั้งแอปฯล่วงหน้าของแอปฯสินเชื่อของบุคคลที่สามทั้งหมดในอุปกรณ์ของ OPPO
ทั้งนี้ ออปโป้ มุ่งมั่นที่จะพัฒนา และปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานที่ดีเยี่ยมเพื่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล และคุ้มครองผู้บริโภค เราขอขอบคุณความไว้วางใจ และการสนับสนุนจากผู้ใช้งานทุกท่านเป็นอย่างดีเสมอมา
เมื่อเวลา 12.15 น. กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท. เมืองทองธานี) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. พ.ต.อ.รชตโชค ลีวาณิชคุณ ผกก.สอบสวน บก.สอท.1 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวกรณีมีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นกู้เงินมาในเครื่องสมาร์ทโฟนว่า เรื่องนี้ ทางตำรวจไซเบอร์ได้มีการตรวจสอบ พบว่าแอปฯ ดังกล่าว มากับตัวปฏิบัติการคัลเลอร์โอเอส ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่กำหนดเอง พัฒนาโดยบริษัทของมือถือดังกล่าว โดยใช้พื้นฐานจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แต่คัลเลอร์โอเอส จะมาคลุมที่แอนดรอยด์อีกชั้นหนึ่ง และปรับแต่งรูปแบบแอปฯให้แนบเนียนไปกับโทรศัพท์ ซึ่งแอนดรอยด์เวอร์ชั่น15 ที่เป็นเวอร์ชั่นปัจจุบัน พบว่ามีแอปฯฟินอีซี่ และสินเชื่อความสุข ติดตั้งมากับโทรศัพท์ค่ายดังกล่าวด้วย โดยผู้ซื้อโทรศัพท์ไม่ได้เป็นคนโหลดมาติดตั้ง เมื่อพบเป็นลักษณะนี้ก็ต้องมาตรวจสอบว่าจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็จะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 13 จำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีปรับไม่เกิน 20,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้ทางตำรวจไซเบอร์ยังไม่ได้รับเรื่องจากผู้เสียหายในส่วนนี้ แต่หากมีผู้เสียหายก็อยากสอบถามถึงประเด็นการเข้าใช้งานต่างๆเพื่อพิจารณาว่าเกิดความเสียหายขึ้นหรือไม่ และการเข้าใช้งานแอปฯ เป็นอย่างไรเพื่อทำการพิจารณาว่าจะเข้าข่ายความผิดอื่นอีกหรือไม่
เวลา 15.00น. ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ชั้น 5 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารB) ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ตัวแทนจากบริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO และบริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ realmeเข้าชี้แจงกับ สคบ. ถึงการจัดการป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการใช้โทรศัพท์มือถือ
นายอนุพงษ์ เจริญเวช ผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สคบ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากยังต้อง การข้อมูลนักพัฒนา(Developer)
แอปพลิเคชันดังกล่าว ทั้งสินเชื่อความสุขและ Fineasy (ฟินอีซี่) รวมทั้งข้อมูลผู้ให้บริการสินเชื่อจากทั้งสองแอปพลิเคชัน ซึ่งวันนี้ตัวแทนบริษัทจาก Oppoและ Realmeก็ยังไม่ได้ให้ข้อมูลในเชิงลึก รวมทั้งยังไม่ทราบจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการสินเชื่อที่แน่ชัด จึงต้องมีการสอบสวนต่อโดยแอปฯ Fineasyในวันที่ 16 มกราคมนี้ จะดำเนินการปล่อย OTA (Over the air update - การส่งมอบซอฟต์แวร์- เฟิร์มแวร์ หรือข้อมูลอื่นๆแบบไร้สายไปยังอุปกรณ์เคลื่อนที่) ส่วนสินเชื่อความสุข ได้รับการแจ้งจากบริษัทฯว่าสามารถลบแอปฯได้เลยตอนนี้
นายอนุพงษ์ กล่าวว่า ทาง สคบ. มีการสอบเค้นทั้ง 2 บริษัทเพิ่มเติม โดยเฉพาะจำนวนโทร ศัพท์มือถือที่มีการจำหน่ายออกไป พร้อมติดตั้งแอพพลิเคชั่นดังกล่าวว่ามีจำนวนกี่เครื่อง ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากทราบจำนวนที่แน่ชัดจะมีการแจ้งให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้งสำหรับผู้เสียหายมีติดต่อเข้ามาแล้วจำนวน 9-10 ราย ส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่จะมีการรั่วไหลออกไป ส่วนประเด็นที่มีผู้เสียหายกดแอปฯแล้วกู้เงินจำนวน 700,000 บาทนั้น หากตรวจสอบพบว่ามีการปล่อยเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดรวมทั้งการทวงถามหนี้ที่ผิด พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ก็เข้าข่ายความผิดอาญา ทั้งนี้ ผู้เสียหายยังคงต้องชดใช้เงินคืนแก่ผู้ให้บริการเงินกู้ แต่ต้องมาพูดคุยเรื่องของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ให้เป็นธรรมกับทั้ง 2ฝ่าย อย่างไรก็ตาม เรื่องแอปฯสินเชื่อที่ติดมากับมือถือดังกล่าว จะต้องสอบว่าใครเป็นนายทุนปล่อยกู้และทำถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ และมีความผิดเกี่ยวกับอาญาหลายเรื่อง จึงต้องมีการตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมายอย่างละเอียดอีกครั้ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี