กรมศุลกากรจับใหญ่'ขยะอิเล็กทรอนิกส์'ลักลอบนำเข้าคาท่าเรือแหลมฉบังกว่า 256 ตัน แฉสินค้ามีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น-ฮ่องกง
วันที่ 15 มกราคม 2568 เวลา 10.30 น. นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร นายจักกฤช อุเทนสุต รองอธิบดีกรมศุลกากร ร่วมกันแถลงข่าว กรมศุลกากรจับกุม “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” นำเข้าทางท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักกว่า 256 ตัน ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้สั่งการให้กรมศุลกากรเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรจึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งรัดปราบปรามสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในการนำเข้าและนำผ่านราชอาณาจักร
จากการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด พบว่า อาจมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 3 และ 6 มกราคม 2568 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปรามร่วมกับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงทำการตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัย จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พบว่า มีการแสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็น “เศษโลหะและโลหะเก่าใช้แล้ว”เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการอายัดตู้สินค้าดังกล่าวเพื่อตรวจสอบโดยละเอียด ผลการตรวจสอบ พบว่าสินค้ามีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น จำนวน 9 ตู้ และฮ่องกง จำนวน 1 ตู้ ภายในพบ “เศษชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไม่ได้มีสภาพเป็นเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณกว่า 256,320 กิโลกรัม
โดยสินค้าดังกล่าว ถือเป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563มีผลบังคับใช้วันที่ 15 กันยายน 2563 และถือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และการนำเข้าสินค้าดังกล่าวต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดนกรณีเป็นความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 243 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 5 วรรคสอง มาตรา 18 วรรคสอง มาตรา 23 และมาตรา 73 ประกอบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายพ.ศ. 2556 บัญชีที่ 5.2 ของเสียเคมีวัตถุ ลำดับที่ 2.18 ชิ้น ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไม่ได้ และอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน
สำหรับสถิติการจับกุมของที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 -14 มกราคม 2568) ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 19 คดี น้ำหนัก 256,643 กิโลกรัม เศษพลาสติก จำนวน 6 คดีน้ำหนัก 322,980 กิโลกรัม รวมทั้งหมด 25 คดี น้ำหนัก 579,623 กิโลกรัม สำหรับในปีงบประมาณ 2567 จับกุมขยะเทศบาล จำนวน 9 คดี น้ำหนัก 1,259,942 กิโลกรัม
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า นอกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากรยังเฝ้าระวังสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนอื่น ๆ ด้วย เช่น เศษพลาสติก ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี