นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของวีซ่าชนิดพิเศษ Long-Term Resident Visa หรือ LTR Visa หนึ่งในมาตรการสำคัญที่จะช่วยดึงดูดบุคลากรต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย สอดคล้องกับแนวโน้มการโยกย้ายฐานการลงทุนทั่วโลกจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น ประกอบกับโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างมากขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานการทำงานและการพำนักระยะยาวของบุคลากรต่างชาติประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญของกลุ่มนักลงทุนและบุคลากรคุณภาพสูงจากทั่วโลก การดึงดูดบุคลากรกลุ่มนี้จึงเป็นโอกาสที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจ เกิดเม็ดเงินในการใช้จ่ายของชาวต่างชาติ เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และยกระดับไทยสู่ศูนย์กลาง Talent ระดับโลกด้วย
LTR Visa เป็นวีซ่าชนิดพิเศษที่รัฐบาลมอบหมายให้บีโอไอเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่
1) ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (Highly Skilled Professionals)
2) ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานจากประเทศไทยให้กับนายจ้างในต่างประเทศ (Work-from-Thailand Professionals)
3) ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen)
4) ผู้เกษียณอายุ (Wealthy Pensioners) รวมทั้งผู้ติดตาม โดยจะพำนักในประเทศไทยได้ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้าออกประเทศ อีกทั้งจะได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เหลือ 17% และยังได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจากปกติทุก 90 วัน เป็นปีละ 1 ครั้งด้วย
การปรับปรุงหลักเกณฑ์ LTR Visa ครั้งนี้เป็นผลมาจากการหารือร่วมกับหอการค้าต่างประเทศและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (คสดช.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) ขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษให้ครอบคลุมอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาเพื่อให้มาช่วยยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรไทย
2) ยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ และผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานจากประเทศไทยให้กับนายจ้างในต่างประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับคุณสมบัติอื่นๆ ที่แสดงถึงศักยภาพของชาวต่างชาติทั้งสองประเภทได้ดีอยู่แล้วเช่นรายได้ขั้นต่ำวุฒิการศึกษา การทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และความมั่นคงของนายจ้างในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดของมาตรการและเข้าถึงกลุ่ม Talent จำนวนมากขึ้น
3) ผ่อนคลายข้อกำหนดด้านรายได้สำหรับบริษัทนายจ้างในต่างประเทศของผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานจากประเทศไทย จากเดิมกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับเป็น 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และให้รวมถึงบริษัทลูกที่มีบริษัทแม่ ซึ่งมีรายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐถือหุ้นทั้งสิ้น เพื่อให้เข้าถึงพนักงานทักษะสูงของทั้งบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และบริษัทที่กำลังเติบโตส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประเทศไทยยังขาดแคลน
4) ยกเลิกข้อกำหนดด้านรายได้ สำหรับกลุ่มผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง จากเดิมกำหนดรายได้ส่วนบุคคล 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปี โดยจะมาให้ความสำคัญกับทรัพย์สินที่มั่นคงและการลงทุนระยะยาวในประเทศไทย (ไม่น้อยกว่า 500,000 เหรียญสหรัฐ)ของต่างชาติกลุ่มนี้มากกว่ารายได้ต่อปี
5) ขยายสิทธิสำหรับผู้ติดตาม จากเดิมกำหนดเพียงคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ครอบคลุมถึงพ่อแม่และผู้อยู่ในอุปการะ โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ติดตาม เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจของมาตรการและยังช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศของสมาชิกครอบครัวอีกด้วย
ปัจจุบันบีโอไอได้อนุมัติ LTR Visa ให้กับบุคลากรต่างชาติศักยภาพสูงแล้วกว่า 6,000 รายจากทั่วโลก กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ยุโรป (2,500 คน) รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (1,080 คน) ญี่ปุ่น (610 คน) จีน (340 คน) และอินเดีย (280 คน) ตามลำดับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี