พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมดและไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายประเทศได้สนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างจริงจัง เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน การลงทุนในพลังงานนี้ไม่เพียงช่วยสร้างความยั่งยืน แต่ยังช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในหลายประเทศอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น จีนกำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศที่สามารถผลิตไฟฟ้าและส่งกลับมายังโลกได้ นับเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้พลังงานสะอาดอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการที่กำหนดให้บ้านใหม่ต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนและครอบคลุมมากขึ้น ด้านเยอรมนีได้ลดกระบวนการอนุมัติใบอนุญาตสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งช่วยเร่งการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
และที่น่าสนใจคือ อินเดียกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับนักลงทุนจากการผลักดันโครงการพลังงานสะอาดสู่การเป็นผู้นำระดับโลกผ่านแนวคิด “One Sun One World One Grid” และ “World Solar Bank” หรือ "พระอาทิตย์หนึ่งดวง โลกหนึ่งใบ หนึ่งกริด และธนาคารโซลาร์โลก" อินเดียมีข้อได้เปรียบที่สำคัญ เช่น ฐานประชากรขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก กว่า 1.3 พันล้านคน และเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีกลุ่มวัยทำงานเกือบ 300 ล้านคนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนที่ได้รับแสงแดดมากถึง 300 วันต่อปี และมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล อินเดียจึงก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานสะอาดที่สำคัญของโลก
อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ในแต่ละประเทศ ก็มีปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น
1. Economy of Scale คือ การที่ธุรกิจสามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยได้ เมื่อขนาดปริมาณการผลิตมากขึ้น อธิบายแบบง่ายๆ คือ ยิ่งผลิตเยอะ ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยก็จะยิ่งถูกลง
2. Capacity Factor คือ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จริง เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตที่ตั้งไว้ เพราะฉะนั้น โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟได้มากและสม่ำเสมอ (Capacity Factor สูง) จะมีราคาต่อหน่วยถูกกว่าโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟได้น้อยหรือไม่สม่ำเสมอ (Capacity Factor ต่ำ) เช่น ถ้าภูมิอากาศของประเทศนั้น มีแดดที่ร้อนและแรงตลอดทั้งปี ก็ย่อมจะมี Capacity Factor สูง
3. Investment Cost คือ ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เช่น ค่าแรง และค่าวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ยกตัวอย่าง อินเดียมีทั้งค่าแรง และค่าเหล็กเส้นที่ถูกเนื่องจากเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ขณะที่ประเทศในแถบยุโรปมีค่าแรงที่สูงก็ย่อมมีต้นทุนการก่อสร้างที่สูงเช่นกัน
ดังนั้น ค่าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทและต้นทุนของแต่ละประเทศ
พลังงานแสงอาทิตย์เป็นกุญแจสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนพลังงานและเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศ พร้อมตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี