นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิบัติการตามพ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ.2489 ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน และนางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ร่วมประชุมด้วย ว่า ได้มีมติปรับปรุงเงื่อนไขการเก็บสต๊อกข้าวตามกฎหมายของผู้ประกอบการใหม่ โดยหากเป็นกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ กรณีเป็นผู้ส่งออกทั่วไป และผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ ให้ยกเว้นการเก็บสต๊อก และกรณีเป็นผู้ส่งออกทั่วไป หากมีทุนจดทะเบียน 5-10 ล้านบาท เก็บสต๊อก 100 ตัน ทุน10-20 ล้านบาท เก็บสต๊อก 500 ตัน และทุนมากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป เก็บสต๊อก 1,000 ตันเพราะเป็นรายใหญ่ โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นเดือนมกราคม 2568 นี้
ส่วนค่าธรรมเนียม ได้ปรับปรุงใหม่ โดยกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ กรณีเป็นผู้ส่งออกทั่วไป และผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุหีบห่อ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม กรณีผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกทั่วไป ทุน 5-10 ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียม 1 หมื่นบาท ทุน 10-20ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียม 3 หมื่นบาท และทุน20 ล้านบาทขึ้นไป เสียค่าธรรมเนียม 5 หมื่นบาท และผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ เสียค่าธรรมเนียม 1 หมื่นบาท โดยเรื่องค่าธรรมเนียม ต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือนมีนาคม 2568
สำหรับการปรับปรุงกฎระเบียบนี้ กรมการค้าภายใน ได้เปิดรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการค้าข้าว ทั้งผู้ส่งออก โรงสี ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็กภาคเกษตรกร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นประโยชน์ จะช่วยลดต้นทุน และเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถส่งออกข้าวได้
ทั้งนี้ ในส่วนของการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าว กรมการค้าต่างประเทศ ได้ดำเนินการปรับลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียน จากเดิมใช้เวลาถึง 3 วัน เหลือเพียง 30 นาที โดยสามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก และลดต้นทุนการส่งออกข้าวให้กับเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ และ SME สามารถส่งออกข้าวได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“การปรับเงื่อนไขการส่งออกข้าว ทั้งเรื่องการเก็บสต๊อก การลดค่าธรรมเนียม และการลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนส่งออกข้าวเป็นไปตามนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปลดล็อก ปรับลดเงื่อนไขการส่งออกข้าว และทลายทุนผูกขาด เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรผู้ประกอบการรายย่อย สามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น และมั่นใจว่าในอนาคตจะมีผู้ส่งออกรายใหม่ๆ เข้ามาส่งออกข้าวและทำให้ยอดส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น”นายพิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการต่อในระยะที่ 2 และ 3 เพื่อเป้าหมายการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก สามารถผลิตและแข่งขันกับต่างประเทศได้ ตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดการค้าข้าวเสรี โดยมีเป้าหมายยกเลิกสต๊อกและค่าธรรมเนียมทั้งหมด และจะเพิ่มความสะดวกในการจดทะเบียนผู้ส่งออกข้าวและผู้ประกอบการค้าข้าวได้ในครั้งเดียว โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากรมการค้าภายใน และกรมการค้าต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเป็นผู้ส่งออกข้าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี