นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มาตรการสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Products Regulation: EUDR) ของสหภาพยุโรป (European Union: EU) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการซื้อสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงรับมือการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าทั่วโลก ทั้งที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมายและจากการขยายตัวทางการเกษตร ซึ่งครอบคลุมสินค้าทั้งหมด 7 รายการ ได้แก่ วัว ไม้ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ และยางพารา รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าดังกล่าว
นางอารดา กล่าวว่า เดิม EU กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) สำหรับประกอบการในการจัดทำรายงานตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สินค้าถึงพื้นที่ที่ใช้ในการเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ EU กำหนด โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะต้องแสดงรายงานดังกล่าวให้กับหน่วยงานของ EU ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (SMEs) จะต้องแสดงรายงานตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 รัฐสภายุโรปมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อบังคับใช้มาตรการ EUDR ออกไปอีก 12 เดือน ดังนี้ 1.สำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ จากเดิม มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 เปลี่ยนเป็น มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2568 เป็นต้นไป และ 2.สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (SMEs) จากเดิม มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 เปลี่ยนเป็น มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2569 เป็นต้นไป
โดย EU อยู่ระหว่างการประกาศข้อกำหนดเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม EUDR ในส่วนของการขยายระยะเวลาบังคับใช้ในรัฐกิจจานุเบกษา (Official Journal) และดำเนินการปรับปรุงคู่มือการบังคับใช้ข้อกำหนด EUDR รวมถึงข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการปฏิบัติตามพันธกรณีของข้อกำหนด EUDR เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางอารดา กล่าวว่า มาตรการ EUDR เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) ที่ EU กำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม (European Green Deal) เพื่อให้ EU สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาประกอบด้วย (1) เป็นสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (2) เป็นสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และ (3) เป็นสินค้าที่ผู้ผลิตและส่งออกมีการจัดทำ Due Diligence Statement โดยการขยายระยะเวลาบังคับใช้ดังกล่าวจะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยทั้งรายใหญ่และรายย่อยสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการจัดทำรายงานตรวจสอบย้อนกลับตามเงื่อนไขของ EU ได้อย่างถูกต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี