นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ดีอี) รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(สคส.) หรือ PDPC เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(สกมช.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(สคส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมบัญชีกลาง ผู้ให้บริการสื่อสาร ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้ประกอบการตัวแทนผู้นำเข้ามือถือมาจำหน่ายในประเทศไทย เป็นต้น มาหารือร่วมกันและแจ้งให้ทราบถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่สิ่งที่เข้าข่ายความผิดอีกคือการลงมัลแวร์ควบคุมเครื่อง จากการตรวจสอบพบว่ามีเครื่องลูกข่ายที่มีการลงแอปพลิเคชันล่วงหน้าทั้ง OPPO – realme มีการติดตั้งลงในมือถือ 4 ล้านเครื่อง นอกจากกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว เหตุการณ์นี้ยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีผู้ร้องเรียนแล้ว 17 รายว่าผลิตภัณฑ์มีความเสี่ยง รวมถึงกฎหมายการเงินที่ปล่อยกู้ผิดกฎหมาย รวมถึง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีการติดตั้งแอปและส่งโฆษณารบกวนประชาชน
ด้าน พ.อ.ต. สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สคส. กล่าวว่า การดำเนินการเอาผิดและการฟ้องร้อง ทางผู้เสียหายได้มีการแจ้งความและร้องเรียน สคบ. โดยในเบื้องต้นการให้บริการสินเชื่อ โดยไม่ได้รับการอนุญาตถือเป็นแอปเถื่อน และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย โดยผู้ได้รับความเสียหายกระทบข้อมูลส่วนบุคคลโดยมีการร้อง สคส.แล้ว 11 ราย ขณะนี้กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเร่งสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และหลังจากสืบทราบข้อเท็จจริงภายใน 30 วันแล้วจะนำไปสู่การพิจารณาบทลงโทษทางปกครองต่อไป
ทั้งนี้ในที่ประชุม หน่วยงานกำกับดูแล ได้ให้ข้อมูล เรื่องกฎหมายและโทษที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ รวมทั้งสิทธิของผู้ซื้อสรุป ได้ดังนี้ สำหรับกฏหมายและบทลงโทษสำหรับผู้ขายมือถือและแท็บเล็ต หรือ การลง แอปฯ สรุปได้ดังนี้ 1. กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยกรณีไม่แจ้ง Privacy notice ผิด ม.23 (ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท)
ขณะเดียวกัน กรณีเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ให้ความยินยอมอาจผิด ม.24 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยไม่ได้รับคำยินยอม(ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท) กรณีไม่ลบ อาจผิด ม.21 เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย แตกต่างจากวัตถุประสงค์ (ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท) ส่วนกรณีเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ อาจเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเกินความจำเป็น ม.22 (ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท) ,กรณีมีการส่งโฆษณาเข้ามาอาจผิด ม.27 ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับคำยินยอม (ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ควบคุมอยู่นอกราชอาณาจักรต้องแต่งตั้งตัวแทนผู้ควบคุมข้อมูลในราชอาณาจักร ม.37(5) (ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท) ส่วน กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น กรณีติดตั้งแอปฯ เพื่อยิงโฆษณา อาจเป็นความผิดฐานเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งสแปม(พรบ.คอม ม.11 ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท)
ส่วนกรณีติดตั้งแอปฯ ซึ่งมี virus malware อาจเป็นความผิดฐานเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ ม.13 จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท) ส่วนกรณีหลอกลวง บิดเบือน หรือนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ผ่านแอปฯ (พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท)
สำหรับ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ได้ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเพียงพอ (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ม.39) หากไม่ได้ทำสัญญาการกู้ยืม ไม่ได้ให้สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาหรือการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอาเปรียบ (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ม.35 ทวิ ม.35 เบญจ ม.35 อัฏฐ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท)
การแจ้งความ กองบังคับการการกระทำความผิดการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกรณีที่มีการกู้ยืมโดยไม่ทำสัญญาอาจมีความผิด
4. กฎหมายเกี่ยวกับบริการทางการเงิน การคิดดอกเบี้ย โดยการประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต (ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 5(7) และข้อ 16 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท) การคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา 15% (พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ม.4(1) จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท) พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ กรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่ 2 แสนบาท
สำหรับ สิทธิของเจ้าของข้อมูล หรือผู้ซื้อมือถือและแท็บเล็ต สรุปได้ดังนี้
1. กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่เห็นว่าแอปฯ มีการเก็บรวบรวมใช้และเปิดเผยข้อมูล ผิดวัตถุประสงค์การใช้งาน มีสิทธิ์ให้ผู้จำหน่ายโทรศัพท์ลบแอปฯ ที่ไม่ต้องการออกไปจากเครื่องได้ (ม.33)
- กรณีเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ให้คำยินยอมในแอปฯ ไปแล้ว มีสิทธิ์ถอนคำยินยอมในแอปฯได้ (ม.19)
- กรณีละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้เกิดความเสียหาย เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลสามารถฟ้องทางแพ่งเพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหนทดแทนได้เป็น 2 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง (ม.77, ม.78)
- กรณีผู้จำหน่ายหรือ ผู้ควบคุมดูแลแอปฯ แล้วแต่กรณี ไม่สามารถตอบสนองต่อสิทธิ์นั้นได้ เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิ์ร้องเรียนต่อ สคส. เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเยียวยาและพิจารณา โทษทางปกครองได้ (ม.73)
2. กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มีมาตรการเยียวยาความเสียหายทางแพ่งแก่ผู้บริโภค (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ม.39)
3. กฎหมายเกี่ยวกับบริการทางการเงิน การคิดดอกเบี้ย สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาค่าชดเชยหากได้รับความเสียหาย สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการทวงหนี้
นอกจากนี้ หน่วยงานได้รายงานเรื่องผู้เสียหายที่เกี่ยวข้องเข้าร้องเรียนหรือขอใช้สิทธิ ถึงวันที่ 20 มกราคม 2568 ดังนี้ มีผู้ติดต่อสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อใช้สิทธิด้านข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับมือถือ จำนวน 11 ราย ,มีผู้ติดต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อร้องเรียนเรื่องมือถือจำนวน 17 ราย
สำหรับผู้เสียหายจากการใช้บริการด้านสินเชื่อ สภาองค์กรของผู้บริโภคอยู่ระหว่างการประสานงานและรับเรื่องเพื่อพาผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับกองบังคับการการกระทำความผิดการคุ้มครองผู้บริโภค (สคป.) ต่อไป
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี