น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้าและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ โดยล่าสุดได้รับรายงานจาก นายนิติ ปทุมวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการเติบโตของรถส่งสินค้าแบบไร้คนขับซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่กำลังพลิกโฉมหน้าธุรกิจบริโภคในจีน และโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่จะศึกษานวัตกรรมดังกล่าว และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ
โดยทูตพาณิชย์รายงานว่า นับตั้งแต่จีนมีการเริ่มทดลองตลาดตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ธุรกิจรถส่งสินค้าแบบไร้คนขับ ได้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งไม่เพียงแต่พลิกโฉมรูปแบบการจัดส่งสินค้าและพฤติกรรมบริโภคแบบดั้งเดิมของจีน ยังส่งเสริมศักยภาพการพัฒนาของธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างมหาศาล โดยผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้า Delivery ทางออนไลน์ สามารถรับสินค้าได้ โดยมีรถส่งสินค้าแบบไร้คนขับและสามารถจัดส่งสินค้าถึงหน้าบ้านเร็วกว่ากำหนด 1 ชั่วโมง และผู้บริโภคสามารถสั่งซื้ออาหารและรับอาหารได้ไม่เกิน 1 นาที โดยวิธีการสแกน QR Code จากรถส่งสินค้าแบบไร้คนขับที่เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระตามพื้นที่ต่างๆ
ทั้งนี้มีข้อมูลจากสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมธุรกิจประเทศจีน ระบุว่า ในปี 2566 ตลาดธุรกิจรถส่งสินค้าแบบไร้คนขับมีมูลค่าสูงถึง 6,500 ล้านหยวน คาดการณ์ว่าในปี 2569 จะเพิ่มมูลค่าเป็น 17,000 ล้านหยวน และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าสูงถึง 750,000 ล้านหยวน การพัฒนาดังกล่าวได้รับผลขับเคลื่อนจากการนวัตกรรมเทคโนโลยี ความต้องการทางตลาด และการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลจีน จุดเริ่มจากการประยุกต์ใช้รถส่งสินค้าแบบไร้คนขับเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงการประยุกต์ใช้ในการจัดส่งพัสดุ
การจัดส่งอาหาร Delivery และการจัดส่งสินค้าของใช้ประจำวันจากร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต
น.ส.สุนันทา กล่าวว่า รถส่งสินค้าแบบไร้คนขับ สามารถขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัว สามารถหลบหลีกทางให้คนเดินถนน หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางและยานพาหนะ รถดังกล่าวถูกนำมาใช้แพร่หลายในธุรกิจ 3 สาขา ได้แก่ ธุรกิจจัดส่งพัสดุ ตามการเติบโตของการค้าออนไลน์, ธุรกิจจัดส่ง Delivery ที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มและรถจะวิ่งไปจัดส่งให้, ธุรกิจจำหน่ายอาหาร ที่มีร้านอาหารหลายรายได้ใช้วิธีการนี้ เมื่อปรุงอาหารแล้วใส่ไว้ในรถให้ขับไปตามสถานที่ต่างๆ อย่างอิสระ ผู้บริโภคสามารถโบกมือหน้ารถ และเลือกอาหารบนหน้าจอ
จ่ายเงินโดยสแกน QR Code ก็เปิดประตูหยิบอาหารไปได้เลย รวมถึงแบรนด์ดัง อย่าง KFC และ McDonald ก็นำอาหารใส่รถวิ่งจำหน่ายบริเวณห้างสรรพสินค้า และรถไฟใต้ดิน
นอกจากนี้ล่าสุดจนถึงเดือนกรกฎาคม 2567 จีนได้ออกนโยบายบริหารพื้นที่ของรถดังกล่าวใน 28 พื้นที่ทั่วประเทศ อนุญาตให้เปิดดำเนินงานในพื้นที่ทั่วไป 17 พื้นที่ และพื้นที่ในถนนที่อนุญาตให้ขับความเร็วมากกว่า 40 กม./ชม. จำนวน 11 พื้นที่ ปัจจุบันทั้งประเทศจีนมีรถส่งสินค้าแบบไร้คนขับดำเนินการแล้ว 6,000 คัน และได้บริการจัด
ส่งสินค้ามากกว่า 300 ล้านใบสั่ง/ชิ้น ให้กับผู้บริโภคมากกว่า 24 ล้านคน
“ธุรกิจรถส่งสินค้าแบบไร้คนขับ ถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพหลังจากกระแสรถยนต์ไร้คนขับที่มาแรงในตลาดจีน เนื่องจากเทคโนโลยีไร้คนขับของจีนได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด การจัดส่งสินค้าแบบไร้คนขับได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคจีน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวคิดการใช้ชีวิตและพฤติกรรมบริโภคที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีระบบสมาร์ทที่ทันสมัย ขณะเดียวกันการใช้รถดังกล่าว สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้า อีกทั้งยังลดต้นทุนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันตลาดจีนยังไม่ได้ใช้รถดังกล่าวในการจัดส่งสินค้าและจำหน่ายสินค้าอย่างแพร่หลาย แต่ด้วยการพัฒนาธุรกิจการขนส่งและนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและขยายห่วงโซ่อุปทานได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและติดตามนวัตกรรมที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดธุรกิจต่อไปในอนาคต”น.ส.สุนันทา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี