'สุชาติ'หารือประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) ของจีน เดินหน้าร่วมมือขยายการค้า การลงทุนไทย-จีนให้เพิ่มมากขึ้น สบช่องขอช่วยสนับสนุนการเปิดตลาดโคมีชีวิต ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า GI และผลไม้ชนิดใหม่ที่อยู่ระหว่างขออนุญาตส่งออก เพิ่มความร่วมมือการค้าออนไลน์ ชวนร่วม และชมงานแสดงสินค้าในไทย พร้อมเชิญไทยเข้าร่วมเป็นประเทศแขกพิเศษงาน EXPO จีน ที่จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายเหริน หงปิน ประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International trade – CCPIT) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานคล้าย ๆ กับหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมร่วมกัน ว่า ได้มีการหารือถึงการขยายความร่วมมือทางการค้าไทย-จีนให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยไทยได้ใช้โอกาสนี้ ขอให้ CCPIT สนับสนุนการผลักดันประเด็นข้อเสนอของฝ่ายไทยกับหน่วยงานภาครัฐของจีน เช่น การเปิดตลาดโคมีชีวิต ตลอดจนช่วยนำร่องประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร ทั้งนี้ ประธาน CCPIT แจ้งว่า ปัจจุบัน ชาวจีนนิยมบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นจากตัวเลขการนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี อันเป็นผลจากข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่มีการเปิดตลาดยกเลิกภาษีนำเข้าผลไม้และลดขั้นตอนการนำเข้า ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่อยู่ระหว่างการยื่นขอจด GI ในจีน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ทุเรียนปราจีน มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี และผลไม้ชนิดใหม่ อาทิ สละและอินทผาลัม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตให้มีการนำเข้าไปยังกลุ่มผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า หรือสมาคมการค้าที่เป็นพันธมิตรกับ CCPIT
ในการนี้ ฝ่ายจีนเชิญไทยเข้าร่วมเป็นประเทศแขกพิเศษหนึ่งในสองประเทศไปร่วมงาน The 3rd China International Supply Chain Expo ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ในเดือนกรกฎาคม 2568 ขณะเดียวกัน ได้หารือถึงการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน หรือ ACFTA ที่มีการเพิ่มขอบเขตความร่วมมือสาขาใหม่ ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค และการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย โดยคาดว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามความตกลงฯ ได้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 28 ซึ่งจะจัดขึ้นภายในปีนี้
พร้อมกันนี้ ไทยได้เชิญชวน CCPIT ให้เข้าร่วมหรือเชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ให้มาชมงานแสดงสินค้าที่จัดในไทย ตั้งแต่เดือนก.พ.-ก.ย.2568 จำนวน 6 งาน ได้แก่ 1) Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 71 (22–26 กุมภาพันธ์ 2568) และครั้งที่ 72 (9–13 กันยายน 2568) 2) THAIFEX–HOREC ASIA 2025 (5–7 มีนาคม 2568) 3) STYLE Bangkok 2025 (2–6 เมษายน 2568) 4) TAPA 2025 (3–5 เมษายน 2568) 5) THAIFEX-ANUGA ASIA 2025 (21–31 พฤษภาคม 2568) 6) TILOG–Logistix 2025 (20–22 สิงหาคม 2568) รวมทั้งได้เสนอ CCPIT พิจารณาแลกเปลี่ยนการสนับสนุนในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่าย เช่น การสนับสนุนพื้นที่ฟรีสำหรับจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ (Showcase) รวมถึงการจัดกิจกรรมประเภทอื่น ๆ ที่ CCPIT พิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายความร่วมมือทางการค้า เนื่องในปี 2568 เป็นวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีน
สำหรับความร่วมมือด้านการลงทุน ได้แจ้งกับ CCPIT ว่ารัฐบาลไทยยินดีต้อนรับนักลงทุนจีน ที่ต้องการเข้ามาดำเนินธุรกิจในเขต EEC โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานสะอาด รวมถึงการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน แรงงานฝีมือ รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และมาตรการอำนวยความสะดวกซึ่งเอื้อต่อการใช้ชีวิตระยะยาวในประเทศไทยสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการ EV 3.5 ที่ให้การสนับสนุนทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตผ่านการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป การลดภาษีสรรพสามิต และการให้เงินอุดหนุน ดังนั้น นักลงทุนและหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของจีน จึงมั่นใจได้ว่า ไทยจะเป็นฐานลงทุน ฐานการกระจายสินค้า และตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่มีศักยภาพในระยะยาว
ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันที่สูงที่สุดกับไทยติดต่อกันถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2566 การค้ารวมมีมูลค่า 104,999.92 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,650,890.18 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 0.19 แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออก 34,173.34 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,177,192.18 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 0.75 และมูลค่าการนำเข้า 70,826.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,473,698.00 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 0.08 โดยไทยขาดดุลการค้า 36,653.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,296,505.82 ล้านบาท) ซึ่งเป็นสินค้าทุน และวัตถุดิบที่ไทยสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าการค้ากับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ต่อไปได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี