นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารหนี้สาธารณะ ดังนี้
- R&I คาดว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) จะเติบโตอยู่ที่ 2.6% ในปี 2567 และขยายตัวต่อเนื่องในปี 2568 อันเป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาคการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
- แม้ว่าการขาดดุลทางการคลังจะยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 4.3% ในปี 2567 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ในปี 2568 แต่จะเริ่มทยอยลดลงตั้งแต่ปี 2569 จนอยู่ที่ 3% ในปี 2572 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public Debt to GDP) อยู่ที่ 63% ในปี 2567 โดย R&I เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อรักษาระดับหนี้สาธารณะไม่ให้เกินกรอบกฎหมายที่กำหนด อีกทั้งหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลในประเทศ ซึ่งตลาดการเงินยังคงมีสภาพคล่องสูงเพียงพอที่จะสามารถรองรับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น จึงไม่มีความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งเงินทุนของภาครัฐ
- R&I มองว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมกับการยกระดับมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเพื่อที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investments) ผ่านการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) รวมถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนที่หลากหลายเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ โดยคาดว่าการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตในด้านอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ต่อไป
- ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความแข็งแกร่งและทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 2.5% ต่อ GDP ในปี 2567 และคาดว่าในปี 2568 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลอยู่ในระดับเดียวกันที่ร้อยละ 2.5 จากการมีเสถียรภาพของราคาพลังงาน และการเติบโตของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า (Goods Exports) เป็นสำคัญ
- ปัจจัยสำคัญที่ R&I จะติดตามสำหรับพิจารณาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงวัยที่อาจจะส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของเงินงบประมาณ และมาตรการสนับสนุนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใหม่และการยกระดับมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี