เดินหน้าพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ-แหลมฉบังเต็มรูปแบบ มั่นใจช่วยดันเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น หนุนประชาชนมีรายได้เพิ่ม
สั่ง กทท. จัดทำแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผุดเป็นแผนแม่บท วางแนวทางการพัฒนากิจการของการท่าเรือให้มีความทันสมัยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วานนี้ (21 มกราคม 2568) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย เพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจการดำเนินกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการ กทท. ให้มีความเหมาะสม
ทั้งนี้ พ.ร.บ. การท่าเรือฯ ฉบับใหม่นั้น กทท. สามารถดำเนินการกิจการต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ของ กทท. ได้ ที่สำคัญให้ กทท. สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจกับหรือเกี่ยวเนื่องในกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาท่าเรือในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ดังนั้นจึงมีแนวทางที่จะให้ กทท.จัดจั้งบริษัทย่อย เพื่อต้องการให้มีการบริหารจัดการแบบเจาะจง โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพระดับสากล โดยการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ดังกล่าว จะทำมาซึ่งการเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ รวมถึงสร้างโอกาสให้กับประชาชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ ยังเพิ่มเติมให้ กทท. สามารถลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน โดยกทท. สามารถทำนิติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีทรัพยสิทธิ หรือเป็นการก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์ได้
ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ กทท. มีเฉพาะอำนาจเรียกเก็บค่าภาระการใช้ท่าเรือ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ และค่าภาระต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณ ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกี่ยวกับการใช้ท่าเรือ การให้บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ รวมทั้ง การจัดการเกี่ยวกับการสาธารณสุขและคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาณาบริเวณ
ทั้งนี้ กทท.สามารถออกพันธบัตรหรือตราสารเพื่อใช้ในการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการของ กทท.ได้ และสามารถเช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกทท.ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะควบคู่ไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันกรอบยุทธศาสตร์ของการท่าเรือฯ มีการกำหนดกลยุทธ์ในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community ที่ต้องมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือฯ จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้ ซึ่งได้มอบหมายให้ กทท. จัดทำแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นแผนแม่บทสำหรับการดำเนินการในอนาคต โดยแสดงถึงเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (ร่างมาตรา 27) ต่อไป
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี