นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (FinancialHub) และเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน โดยมีตนเป็นประธาน ปัจจุบันได้ยกร่าง“พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ....” เป็นกฎหมายชุดใหม่ 96 มาตรา และเปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อย่างช้า ต้นเดือน ก.พ. 2568
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... มีหลักการสำคัญ ดังนี้ 1.ธุรกิจเป้าหมาย ต้องการดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท ได้แก่ 1.ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 2.ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3.ธุรกิจหลักทรัพย์ 4.ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6.ธุรกิจประกันภัย 7.ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ 8.ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด ให้เข้ามาลงทุนและตั้งบริษัทในไทย โดยจะต้องตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนดและต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด และสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ
(Non-resident) เท่านั้น
ทั้งนี้ จะอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณี ดังนี้ 1.ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้ 2.ด้านตลาดทุน สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย(Co-services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้3.ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำ Interbank กับสถาบันการเงินไทยเพื่อบริหารความเสี่ยงได้ 4.ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้ 5.ด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเป็น Non-resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยผู้ประกอบธุรกิจมีเป้าหมายภายใต้ Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีตามที่คณะกรรมการฯกำหนด โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องแข่งขันได้ และสิทธิ์ประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น
นอกจากนี้ จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority : สำนักงาน OSA) ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ
เพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาลงทุน อีกทั้ง มีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน เป็นซูเปอร์บอร์ด 8 คนโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมีคณะกรรมการ ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการ ก.ล.ต. เลขาธิการ คปภ. เลขาธิการกฤษฎีกาเลขาธิการ ปปง. และเลขาธิการ บีโอไอ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี