นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่า 24,765.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 853,305 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 8.7% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 10.4% ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2567 ทำมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการส่งออกในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ พุ่งทะยานสู่ระดับ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับการส่งออกในรูปของเงินบาทก็มีมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนธันวาคมได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทยในทุกหมวดและยังขยายตัวเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า โดย การส่งออกของไทยทั้งปี 2567 ขยายตัว 5.4% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 5.4%
สำหรับมูลค่าการค้า เดือนธันวาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 24,765.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 863,305 ล้านบาท ขยายตัว 8.7% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 24,776.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 863,930 ล้านบาท ขยายตัว 14.9% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 10.6% ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ภาพรวมทั้งปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 300,529.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 10,548,759 ล้านบาท ขยายตัว 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 306,809.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 10,896,480 ล้าน ขยายตัว 6.3% ปี 2567 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 6,280.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 347,721 ล้านบาท
ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 8.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 10.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 6.7% มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัว 48.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 7.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ขยายตัวในตลาด
ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 14.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 4.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้
นอกจากนี้อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 9.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ไต้หวัน เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัว 12% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย เมียนมา และลาว) ส่วน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 7.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 14 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 24.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ ลาว และมาเลเซีย
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัว 8.5% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อิรัก และเซเนกัล แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เยเมน แอฟริกาใต้ และโมซัมบิกและน้ำตาลทราย หดตัว 30% หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน หดตัวในตลาดกัมพูชา ลาว ไต้หวัน สิงคโปร์ และจีน แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ เมียนมา และเฟรนช์โปลีนีเซีย โดยปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 6%
นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 11.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 43.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เยอรมนี สิงคโปร์ และไอร์แลนด์ ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 22.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ ขยายตัว 79.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 35.6% ขยายตัวต่อเนือง 10 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย) เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 20.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย สหรัฐฯ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 28.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และอิตาล
ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 7.2% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า หดตัวในตลาดออสเตรเลีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และบราซิล แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ เม็กซิโก อินโดนีเซีย และเวียดนาม น้ำมันสำเร็จรูป หดตัว 33.7% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดลาว เวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา จีน อินโดนีเซีย เขตต่อเนื่องราชอาณาจักร และอินเดีย
ทั้งนี้แนวโน้มการส่งออกในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2568 จะขยายตัวได้ที่ 2 – 3%
ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงในระดับปัจจุบัน แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น และการเร่งส่งเสริมการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเชื่อมโยงเข้ากับสินค้าส่งออกเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำในระดับโลก
ขณะที่มีปัจจัยท้าทายจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งกระทบกับบรรยากาศการค้าโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อยาวนาน และความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์และวางแผนเตรียมความพร้อมร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การค้าไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี