นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่า 24,765.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 853,305 ล้านบาท ขยายตัว 8.7% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะขยายตัวอยู่ที่ 10.4% ซึ่งการส่งออกในเดือนธันวาคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทยในทุกหมวด และยังขยายตัวเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้การส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 24,765.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ด้านการนำเข้า มีมูลค่า 24,776.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.9% และดุลการค้า ขาดดุล 10.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการส่งออกในรูปเงินบาทในเดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 853,305 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 863,930 ล้านบาท หดตัว 13.4% และดุลการค้า ขาดดุล 10,625 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยทั้งปี 2567 ขยายตัว 5.4% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 5.4% โดยมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั้งในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท ซึ่งการส่งออกในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งทะยานสู่ระดับ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกโดยอยู่ที่ 300,529.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 306,809.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.3% และดุลการค้า ขาดดุล 6,280.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการส่งออกในรูปของเงินบาทก็มีมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ 10,548,759 ล้านบาท ขยายตัว 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 10,896,480 ล้านบาท หดตัว 3.8% และดุลการค้า ขาดดุล 347,721 ล้านบาท
นายพูนพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนธันวาคม 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 8.9% เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 10.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 6.7% ซึ่งสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัว 48.5%, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 7.1%, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 14.2%, ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 4.0%, อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 9.7%, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัว 12.0%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 7.8% และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 24.3% ในขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัว 8.5% และน้ำตาลทรายหดตัว 30.0% โดยทั้งปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยาย 6.0%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2567 ขยายตัว 11.1% เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว43.5%, ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 22.5%, อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 79.5%, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 35.6%, เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 20.1%, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 28.7% ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว7.2%, น้ำมันสำเร็จรูป หดตัว 33.7%, เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัว 28.3%, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัว 77.9% โดยทั้งปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.9%
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น จากความกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกไปยัง 1.ตลาดหลัก ขยายตัว 12.0% โดยการส่งออกทั้งปี 2567 ไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 13.7% จีนขยายตัว 3.1% ญี่ปุ่น 5.3% สหภาพยุโรป ขยายตัว 10.2% และ CLMV ขยายตัว 12.7% ขณะที่ตลาดอาเซียน หดตัว 0.8%, 2.ตลาดรอง ขยายตัว 6.2% โดยตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 13.1% ตะวันออกกลาง ขยายตัว 3.8% แอฟริกา ขยายตัว 0.5% ลาตินอเมริกา ขยายตัว 15.2% รัสเซียและกลุ่ม CIS ขยายตัว 7.5% สหราชอาณาจักร ขยายตัว 3.0% ทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 2.1%, 3.ตลาดอื่นๆ หดตัว 65.3%
สำหรับแนวโน้มปี 2568 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 2-3% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงในระดับปัจจุบัน แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น และการเร่งส่งเสริมการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเชื่อมโยงเข้ากับสินค้าส่งออกเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำในระดับโลก ขณะที่มีปัจจัยท้าทายจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งกระทบกับบรรยากาศการค้าโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อยาวนาน และความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์และวางแผนเตรียมความพร้อมร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การค้าไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี