นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และแกนนำ 10 สมาคมเหล็ก เปิดเผยว่า เห็นด้วยยิ่งกับมติล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมของ กกร. ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ที่ได้แสดงความกังวลต่อการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ และเสนอต่อรัฐบาลว่านอกจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) แล้ว กระทรวงพาณิชย์ต้องพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆ ด้วยตามความจำเป็น ได้แก่ มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) เพื่อให้การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์
ทั้งนี้ สงครามการค้าโลกในยุคหลังได้เริ่มขึ้นนับตั้งแต่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยแรก และสหรัฐฯได้ใช้มาตรา 232 (Section 232) อ้างเหตุความมั่นคงของชาติตามกฎหมายการขยายการค้า (Trade Expansion Act) ปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นกับสินค้าเหล็กตั้งแต่ปี 2561กำหนดอากร 25% กับสินค้าเหล็กทุกประเภทและสงครามการค้าได้ขยายวงโดยสหภาพยุโรป (EU) ได้ใช้อากร SG ที่ 25% กับสินค้าเหล็กเช่นกัน โดยทั้งสหรัฐฯและ EU ได้ใช้มาตรการดังกล่าวมา 7 ปีต่อเนื่องแล้ว และยิ่งขยายการกีดกันการนำเข้าสินค้าประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีนในวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้น
โดยในปี 2567 ประเทศที่มีการส่งออกสินค้าสูงสุดในโลก คือ จีน ส่งออกสินค้ามูลค่ามากถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการส่งออกของไทยถึง 12.4 เท่าตัว ในระยะหลังนี้เมื่อจีนถูกสหรัฐฯและ EU ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเข้มขึ้น จีนได้พุ่งเป้าส่งออกสินค้ามายังประเทศกลุ่ม Belt and Road Initiative มากขึ้น จนมีสัดส่วนการค้ามากกว่า 50% ของการค้าทั่วโลกของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคอาเซียน จนกระทั่งจีนขึ้นเป็นทั้งผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่สุดมายังอาเซียน และผู้นำเข้าสินค้าจากอาเซียนมากที่สุดในช่วง 5 ปีหลังสุด ยกตัวอย่างเฉพาะสินค้าเหล็ก ในปี 2567 จีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กมาอาเซียนกว่า 40 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนมากเกือบ 40% ของการส่งออกเหล็กจีนไปทั่วโลก
นายนาวา กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการค้า เพื่อปกป้องการจ้างงานของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบและรักษาเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศด้วย โดยตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีการใช้มาตรการ SG ได้แก่ อินโดนีเซีย 25 มาตรการ, เวียดนาม 5 มาตรการ, ฟิลิปปินส์ 4 มาตรการ และมาเลเซีย 3 มาตรการ ในขณะที่ไทยไม่ได้ใช้มาตรการ SG มากว่า 6 ปีแล้ว และไม่เคยใช้มาตรการ CVD เลย
สำหรับปัญหาสำคัญที่ไทยต้องดำเนินการป้องกันแก้ไขในช่วงสงครามการค้าโลกรุนแรง ได้แก่ 1.สินค้าจีนซึ่งไปสหรัฐฯและ EU ได้ยากขึ้น ก็จะยิ่งทะลักมาอาเซียน ในขณะที่ไทยยังไม่กล้าใช้มาตรการทางการค้าบางอย่าง 2.ผู้ผลิตในไทยที่ใช้วัตถุดิบจากจีนแล้วส่งออกไปสหรัฐฯและ EU จะถูกเพ่งเล็งและอาจถูกใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention) สินค้าจากจีนที่ถูกใช้มาตรการ AD และ CVD อยู่เดิม 3.การลงทุนจากจีนมาเปิดโรงงานในไทย จะส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันที่มีอยู่เดิมและมีกำลังการผลิตล้นเหลืออยู่แล้วในไทย ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากนักลงทุนจีน จนผู้ประกอบการเดิมบางรายต้องปิดกิจการลง
“ขณะนี้ภาคเอกชนและประชาชนชื่นชมกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้ดำเนินการหลายมาตรการอย่างเข้มแข็ง ได้แก่ การห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานบางประเภท ซึ่งไทยมีกำลังการผลิตสูงเกินพออยู่แล้ว,เข้มงวดการดำเนินการทั้งตามพ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.), พ.ร.บ.โรงงาน โดยชุดตรวจการณ์สุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม จนมีการสั่งหยุดกิจการหลายแห่ง ซึ่งผลิตสินค้าไม่เป็นไปตาม (มอก.) บังคับ และฝ่าฝืนด้านความปลอดภัยในโรงงาน โดยให้กิจการดังกล่าวปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงดำเนินคดีผู้กระทำผิดตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยไม่หวั่นเกรงผู้มีอิทธิพล เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก หากเป็นบริษัทที่ละเลยในเรื่องดังกล่าวหรือฝ่าฝืนกฎหมายซ้ำซาก ควรโดนมาตรการที่เข้มข้นยิ่งขึ้น” นายนาวา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี