nn ดีเดย์! เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิก อบจ. (ส.อบจ.) พร้อมกันทั่วประเทศ 1 กุมภาพันธ์ ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งนายกอบจ. ปีนี้ดุเดือดมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นศึกตัดสินอนาคตของพรรคใหญ่ทุกพรรคในการเลือกตั้งระดับประเทศที่จะจัดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าเป็นเดิมพัน ซึ่งหากพูดถึงอบจ. คนเมืองหลวงทั้งหลายอาจไม่เข้าใจว่าสำคัญอย่างไร หากให้อธิบายง่ายๆ อบจ. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้กำหนดแนวทางการพัฒนาของจังหวัด และเป็นผู้บริหารงบประมาณจากส่วนกลาง และจากภาษีท้องถิ่นต่างๆ ที่เก็บได้เพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับนโยบายที่หาเสียงไว้
มาถึงตรงนี้หลายคนสงสัยว่า..แล้วทำไม“เศรษฐศาสตร์วันหยุด”มาเขียนเรื่องเลือก อบจ. มันเกี่ยวกับเศรษฐกิจตรงไหน...ก็ต้องบอกเลยว่าเกี่ยวแน่นอน..เพราะแน่ๆ อบจ.ใช้เงินมาบริหาร อบจ.แห่งนั้นๆ ด้วย“เงินภาษี”...เราจึงได้เห็นว่าการหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ชูนโยบายการใช้เงินงบประมาณของอบจ.(เงินภาษี)อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยการขจัดความไม่โปร่งใส และการเรียงลำดับความสำคัญในการใช้เงินงบประมาณให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ
แต่ก็อีกนั่นแหละ...ความท้าทายหนึ่งของอบจ. ยุคปัจจุบัน คือ รายได้จากภาษียาสูบลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการจัดเก็บภาษีเป็นค่าธรรมเนียมบำรุงท้องถิ่น ปกติแล้วเมื่อบุหรี่ถูกกฎหมาย 1 ซองถูกขายในจังหวัดต่างๆ เงินจำนวน 1.86 บาท/ซอง จะถูกหักเพื่อเป็นรายรับของอบจ. โดยตรง และอีก 10% ของภาษีสรรพสามิตจะกลายเป็นภาษีมหาดไทย เปลี่ยนเป็นงบประมาณให้ท้องถิ่นอีกทาง
แต่เมื่อปัจจุบัน“บุหรี่เถื่อน”พุ่งสูงขึ้นทั่วประเทศไทย รายได้ในส่วนนี้หายไปราว 2,400 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานส่วนท้องถิ่น...ยกตัวอย่าง จ.สงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของบุหรี่เถื่อนสูงเป็นอันดับที่ 1 ของไทย เคยจัดเก็บภาษียาสูบได้สูงถึงกว่า 82 ล้านบาทต่อปีในปี 2554 แต่กลับลดลงเรื่อยๆ จนถึงระดับต่ำกว่า 10 ล้านบาทเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อดูตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของจังหวัดสงขลาในปีงบฯ 2566 พบว่าจัดเก็บภาษียาสูบได้ราว 7.75 ล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็น 51.69% จากประมาณการที่ 15 ล้านบาท
ขณะที่ในปีงบฯ 2567 สงขลาได้ปรับประมาณการการจัดเก็บภาษียาสูบลงเหลือ 10 ล้านบาท แต่ก็ยังจัดเก็บได้ไม่เข้าเป้า ทั้งปีงบประมาณสามารถจัดเก็บไปได้ราว 7.70 ล้านบาท คิดเป็น 77.01% จากประมาณการ หากดูอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนช่วงไตรมาสแรกปี 2567 ของจังหวัดสงขลา พบว่า มีอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนสูงถึง 90.6%รั้งอันดับ 1 ของประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 6.2% เพราะสงขลาเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงของบุหรี่เถื่อนกักตุนสินค้าก่อนส่งตรงสู่จังหวัดต่างๆ ทั่วไทย
บุหรี่เถื่อนไม่ใช่ปัญหาของสงขลาเพียงจังหวัดเดียว แต่ได้แผ่วงกว้างไปทั่วประเทศไทยแล้ว ภาพรวมอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนของไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ชี้ชัด
ว่ามีสูงถึง 25.5% หรือ 1 ใน 4 ของตลาดทั้งหมด หาก อบจ. ยังคงหวังพึ่งเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ไม่เรียกร้องให้มีแนวทางการปราบปราม ดำเนินคดี
และลงโทษขบวนการบุหรี่เถื่อนที่กัดกินงบพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ก็คงไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ เพราะปัจจุบันนโยบายจากรัฐบาลกลางนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นเสมอไป ทั้งๆ ที่สิ่งที่รัฐบาลส่วนกลางทำนั้นต้องให้ความสำคัญกับปัญหาบ้านๆ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของท้องถิ่น...ไม่ใช่แค่ใช้ อบจ.หรือการปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ เป็นแค่ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล เพื่อบ่มเพาะคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปเพียงอย่างเดียว
พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี