ปี 2567 ต่างชาติหอบเงินลงทุนเข้าไทยทั้งปี 2.28 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นครองแชมป์อันดับ 1
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 954 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 227 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ 727 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 228,106 ล้านบาท โดยปี 2567 จ้างงานคนไทย 5,040 คน
ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ญี่ปุ่น 254 ราย คิดเป็น 27% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 121,190 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ พัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า 2. สิงคโปร์ 137 ราย คิดเป็น 14% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 22,485 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคด้านต่างๆ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
3. จีน 123 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 19,547 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบสายพานที่ใช้ สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการทำเทคนิคด้านภาพสำหรับภาพยนตร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า 4. สหรัฐอเมริกา 121 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 24,675 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า และ 5. ฮ่องกง 69 ราย คิดเป็น 7% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,281 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่า ปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 287 ราย คิดเป็น 43% มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 100,574 ล้านบาท คิดเป็น79% สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุน 301 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 167 ราย คิดเป็น 124% มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 56,490 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 17,877 ล้านบาท (46%) โดยเป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 103 ราย ลงทุน 20,593 ล้านบาท จีน 72 ราย ลงทุน 12,107 ล้านบาท ฮ่องกง 20 ราย ลงทุน 5,698 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 106 ราย ลงทุน 18,092 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุนในพื้นที่ EEC เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม อุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน ธุรกิจบริการชุบแข็ง และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี