นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลอดปี 2568 ธนาคารจะมุ่งยกระดับการให้บริการลูกค้า ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ บุกเบิกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการยกระดับประสบการณ์โดยรวมของลูกค้าที่มีต่อธนาคารให้ดียิ่งขึ้น
โดยกลยุทธ์ของธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการคาดการณ์ต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น โดยธนาคารได้กําหนดเป้าหมายทางการเงินสําหรับปี 2568 ดังนี้
- การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพ ในภาคธุรกิจที่มีการฟื้นตัว และสินเชื่อที่มีหลักประกัน ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยการปรับปรุงกลยุทธ์สินเชื่อ ฟื้นฟูขีดความสามารถหลัก และปรับปรุงการจัดการทั้งกระบวนการ ตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในปี 2568 ในระดับทรงตัว
- ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) 3.3-3.5% สอดคล้องกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ โดยผลตอบแทน NIM เมื่อหัก Credit Cost แล้ว จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- การเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ(Net Fee Income Growth) Mid to High-single Digit โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตเชิงกลยุทธ์ในการให้บริการโซลูชันด้านการลงทุน แม้รายได้ค่าธรรมเนียมการทําธุรกรรมทั่วไปจะลดลงเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
- ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to Income Ratio) คาดว่าจะอยู่ที่ Low to Mid-40s
- เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio - Gross) น้อยกว่า 3.25% ค่อนข้างทรงตัวท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
- อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Credit Cost) คาดว่าจะปรับตัวสู่ระดับปกติ (Normalized Level) ในช่วง140-160 bps โดยธนาคารยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่รอบคอบอย่างต่อเนื่อง พร้อมรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต
นางสาวขัตติยา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยจะเติบโตประมาณ 2.4% การบริโภคและการส่งออกภาคเอกชนจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีการเติบโตน้อยลง และการใช้จ่ายของรัฐบาลจะสูงขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่สูง ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง ซึ่งท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจดังกล่าว ธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการเป็นธนาคารที่ไว้วางใจได้และส่งมอบการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้า เร่งพัฒนาเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่องค์กร ควบคู่กับการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ตามยุทธศาสตร์ 3+1 และ Productivity
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ 3+1 และ Productivity ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ที่ทำต่อเนื่องจากปี 2567 ได้แก่ ยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน คือ การยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อ การขยายธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียม การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางต่าง ๆ และ 'บวกหนึ่ง' คือการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ในระยะกลางและระยะยาว โดยสิ่งที่ธนาคารเน้นเพิ่มขึ้นในปี 2568 นี้ คือ ยุทธศาสตร์ Productivity เพื่อเพิ่มผลิตภาพจากการดำเนินงานให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2568 ธนาคารจะยังมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสามารถสนับสนุนลูกค้ากว่า 24 ล้านราย ให้บรรลุศักยภาพสูงสุด
ธนาคารกสิกรไทยได้จัดลำดับความสําคัญเชิงกลยุทธ์ 3+1 และ Productivity ขับเคลื่อนการทำงานสู่เป้าหมาย ดังนี้ ยุทธศาสตร์หลักที่ 1 ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อด้วยการมุ่งเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เน้นการให้บริการลูกค้าปัจจุบันที่มีคุณภาพ ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่ปรับให้เหมาะกับลูกค้า
ยุทธศาสตร์หลักที่ 2 ขยายธุรกิจรายได้ค่าธรรมเนียม ด้วยการให้บริการโซลูชันการลงทุนและการชําระเงิน ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Business) ธนาคารมุ่งเน้นส่งเสริมบริการด้านการลงทุน และการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนที่เป็นที่ไว้วางใจ (Trusted Advisor) อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 ธนาคารจะยังคงนําเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครอบคลุม ขยายและยกระดับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ซับซ้อนผ่านประสบการณ์ดิจิทัล (Digital Experience) ควบคู่ไปกับการเสริมความแข็งแกร่ง
กลุ่มธุรกิจการชําระเงิน (Payment Business) ธนาคารมีบริการชำระเงินที่หลากหลาย โดยมี K PLUS เป็นจุดเชื่อมต่อบริการ ซึ่งปัจจุบัน จำนวนธุรกรรมออนไลน์ในประเทศไทย 1 ใน 3 ทำผ่าน K PLUS โดยในปี 2568 ธนาคารจะยังคงพัฒนาบริการชําระเงินโดยมี K PLUS เป็นแพลตฟอร์มหลัก ควบคู่ไปกับการขยายเข้าไปรองรับระบบนิเวศในธุรกิจร้านค้า เพื่อให้รับชำระเงินได้หลากหลาย
ยุทธศาสตร์หลักที่ 3 เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางต่าง ๆ โดยตั้งเป้า ปี 2568 เพิ่มจํานวนผู้ใช้ K PLUS จาก 23.1 ล้านคนเป็น 23.9 ล้านคน รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน K BIZ ให้ใช้งานง่ายยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่หลากหลาย โดยตั้งเป้าผู้ใช้งาน K BIZ จาก 1.2 ล้านคนเป็น 2.1 ล้านคน ในปี 2568
นางสาวขัตติยา กล่าวว่า ธนาคารยังวางรากฐาน ยุทธศาสตร์ +1 เพื่อสร้างรายได้ใหม่ในระยะกลางและระยะยาว ได้แก่ การดำเนินงานของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (KIV) ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศ ควบคู่กับการให้ความสําคัญกับคุณภาพสินทรัพย์ สําหรับการขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค ธนาคารให้ความสําคัญกับภูมิภาค AEC+3 โดยเฉพาะการเติบโตในตลาดที่มีศักยภาพ ในประเทศจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ยกระดับการให้บริการทางการเงินด้วยนวัตกรรมผ่านการทำงานในระบบนิเวศและการสร้างนวัตกรรม ด้วยการเปิดตัว 4 ใบอนุญาตในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งธนาคารยังสนับสนุนการขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านการจัดตั้งบริษัท คอปฟิฟตี้ จำกัด (KOP50) บริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร เพื่อริเริ่มโครงการสร้าง Sustainable Ecosystem ที่สมบูรณ์ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ จาก กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป รวมทั้ง ระหว่างปี 2565-2567 ธนาคารได้ส่งมอบเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุนด้านความยั่งยืนจำนวนกว่า 1.2 แสนล้านบาท
ยุทธศาสตร์ด้าน Productivity ธนาคารมุ่งเน้นที่จะยกระดับนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารและจัดการภายในองค์กร (Productivity) ผ่านการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการทำงาน อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเพิ่มศักยภาพของพนักงาน (Human Intelligence) เพื่อสร้างให้เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และเกิดการทำงานที่มีประสิทธิผลสูงสุด
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี