นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าภาพรวมดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย เดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2567 กลับมาขยายตัวเล็กน้อยจากราคาสินค้า หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีทิศทางเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลกและความต้องการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และราคาสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่แม้ว่าปัจจุบันจะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในตลาดผู้ส่งออก แต่ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก สภาพเศรษฐกิจของตลาดปลายทาง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลให้ภาพรวมของราคาผู้ผลิตยังคงมีความผันผวนในระดับที่ทรงตัวหรืออาจจะมีความเคลื่อนไหวไม่มาก
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมกราคม 2568 เท่ากับ 111.1 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 สูงขึ้น 0.7% เมื่อกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้า หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้น 2.0% จากสินค้าสำคัญ ที่ปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง ในขณะที่ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ยางพารา ผลปาล์มสดสับปะรดโรงงาน สุกรมีชีวิต และกุ้งแวนนาไมสำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง เช่น ข้าวเปลือกเจ้า อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลังสด พืชผัก เนื่องจากปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น
ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้น 0.6% จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญที่เกิดจากต้นทุนเพิ่มขึ้นและเคลื่อนไหวตามตลาดโลก และมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น ทองคำ อุปกรณ์กีฬา กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ กลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ (รถกระบะ และรถบรรทุกขนาดเล็ก) กลุ่มสิ่งทอ (ผ้าใยสังเคราะห์ และเครื่องนอน) ส่วนการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (เนื้อสุกร เนื้อปลาสดแช่แข็ง ปลาป่น มันเส้น และน้ำตาล) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี เม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง 2.0%จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) แร่เหล็ก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้จากการทำเหมือง ได้แก่ ยิปซัม โดโลไมต์ ทราย เกลือ ซึ่งราคาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกุมภาพันธ์ 2568 คาดว่าจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. ความต้องการบริโภคในภาพรวมของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว2.ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มจะขยายตัวจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่วนปัจจัยกดดันที่สำคัญยังคงเป็น 1.ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน 2.การแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ประกอบกับฐานราคาสินค้าเกษตรในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคาพลังงาน อัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในทิศทางใดซึ่งจะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี