นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลสำรวจสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการของ SME ไตรมาส 4ปี 2567 พบว่า ผู้ประกอบการ SME ที่มีภาระหนี้สินมีสัดส่วนใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนอยู่ที่ 65% จาก 65.3% เมื่อพิจารณาตามขนาดธุรกิจพบว่าธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจรายย่อย มีสัดส่วนภาระหนี้สินเพิ่มเป็น 97.1% และ 61.3% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนธุรกิจขนาดย่อมมีภาระหนี้สินลดลงมาอยู่ที่ 71.5%
เมื่อพิจารณาสัดส่วนประเภทแหล่งเงินกู้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าธุรกิจรายย่อยและขนาดกลางพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงินเพิ่มมากขึ้น โดยธุรกิจรายย่อยหันไปพึ่งพาแหล่งเงินจากนายทุนเงินกู้เพิ่มขึ้น จาก 1.3% เป็น 7.4% ส่วนธุรกิจขนาดกลางมีการกู้ยืมเงินทุนจากเพื่อน/ญาติพี่น้องเพิ่มขึ้น จาก 16.2% เป็น 18.2% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมพึ่งพาแหล่งกู้เงินในระบบสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ บัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด เพิ่มมากขึ้น จาก 56.1% เป็น 69.7% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปใช้เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่า SME นำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการลดลงจาก 91.9% เป็น 82% เนื่องจาก SME เริ่มมีการนำเงินไปชำระหนี้สินเดิมเพิ่มมากขึ้นจาก 3% เป็น 9.7% และนำเงินไปลงทุนในกิจการเพิ่มขึ้นจาก 5.1% เป็น 8.3% เพื่อขยายกิจการและซ่อมแซมสถานประกอบการ
จากผลสำรวจระบุว่า SME เผชิญปัญหาการชำระหนี้มาตั้งแต่ช่วงปี 2563 จากต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และเผชิญปัญหาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยด้านกำลังซื้อต่ำ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงผลกระทบจากการแข่งขันของคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถขายสินค้า/บริการได้ จึงส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ อีกทั้งการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อจากแหล่งเงินต่างๆ ยังไม่เพียงพอ รวมถึงระยะเวลาสัญญาสินเชื่อที่สั้นเกินไปเกณฑ์การเข้าถึงสินเชื่อที่เข้มงวดมากตลอดช่วงหลังการฟื้นตัวจากโควิด ขั้นตอนการกู้ยืมเงินที่ยุ่งยาก และการขาดความรู้หรือที่ปรึกษาทางการเงิน จึงกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ SME มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ พบว่า SME ที่ไม่มีภาระหนี้สิน ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง เริ่มมีความต้องการกู้ยืมเงินในอนาคตเพิ่มมากขึ้น จาก 17.6% เป็น 24.6% และจาก 22.2% เป็น 25% ตามลำดับ เนื่องจากต้องการนำเงินไปใช้หมุนเวียนในกิจการ และ SME มองว่าปัจจัยด้านกำลังซื้อต่ำที่ทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อลดลง คู่แข่งทางธุรกิจมีจำนวนเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องที่ลดลง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านการเงินของธุรกิจ เมื่อต้องการแหล่งเงินทุนหรือยื่นกู้สินเชื่อยังเจอกับปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด รวมถึงธุรกิจที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินความสามารถในการชำระเงินคืนอีกด้วย
แม้ว่าสถานการณ์ภาวะหนี้สินของ SME ในไตรมาสที่ 4 เริ่มมีทิศทางทรงตัว SME ต้องการนำเงินกู้ที่ได้รับไปชำระหนี้สินเดิมเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยอื่นๆ ภายในประเทศ เช่น กำลังซื้อต่ำ ราคาสินค้า/บริการที่อยู่ในระดับสูง พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้า/บริการได้นั้น ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือกระตุ้นให้เกิดการสร้างรายได้ เพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการเพิ่มการใช้จ่ายหรือกำลังซื้อ รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อ เช่น การเพิ่มความยืดหยุ่นของหลักเกณฑ์ในการยื่นขอสินเชื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการทุกสาขาธุรกิจ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการไปพึ่งพาแหล่งกู้ยืมเงินที่ไม่เหมาะสมหรือผิดประเภทเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ให้คำปรึกษาในการวางแผนธุรกิจ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี