ผวานโยบายสหรัฐ! ‘สรท.’กาง 5 ปัจจัยเสี่ยงกระทบไทย ชง 6 ข้อตั้งวอร์รูมรับมือ
4 กุมภาพันธ์ 2568 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนธันวาคม 2567 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,765.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 853,305 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนธันวาคมขยายตัว 10.4%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,776.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 863,930 ล้านบาท หดตัว 13.4% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 10.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 10,625 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 300,529.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 10,548,759 ล้านบาท ขยายตัว 7.3% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - ธันวาคม ขยายตัว 5.4%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 306,809.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 10,896,480 ล้านบาท หดตัว 3.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 6,280.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท 347,721 ล้านบาท
ทั้งนี้การส่งออกทั้งปี 2567 เติบโต 5.4% ถือเป็นการเติบโตในระดับที่เกินเป้าหมาย ทำให้ฐานปี 2567 ค่อนข้างสูง สรท. จึงคาดการณ์ส่งออกปี 2568 เติบโตที่ 1-3% (ณ กุมภาพันธ์ 2568) โดยมีปัจจัยเสี่ยงและความผันผวนที่สำคัญต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ได้แก่ 1. นโยบายของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดความผันผวนทางการค้าในระยะต่อไป เช่น การใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรกดดันนานาประเทศในประเด็นที่แตกต่างกันออกไป 2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังไม่มีข้อยุติทั้งกรณี รัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ในตะวันออกกลาง 3. ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน เป็นผลมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และส่งผลให้นักลงทุนเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
4. ปัจจัยเฝ้าระวังขนส่งสินค้าทางทะเล อาทิ 4.1 การบริหารจัดการเที่ยวเรือและระวางเรือของสายเรือ อาทิ การยกเลิกเที่ยวเรือ (Blank sailing) เพื่อควบคุมปริมาณกองเรือในตลาด เป็นต้น 4.2 ผลกระทบเปลี่ยนกลุ่มพันธมิตรสายเรือ ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนเส้นทางและตารางการเดินเรือ ซึ่งอาจมีผลให้การหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ในตลาดล่าช้า 4.3 ความแออัดของท่าเรือแหลมฉบัง ส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงต่อการส่งมอบสินค้าให้ทันตามกำหนดส่งมอบในสัญญาซื้อขาย และส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควัน PM 2.5 ในประเทศ รุนแรงมากขึ้น 5. ประเด็นอื่นๆ อาทิ 5.1 ต้นทุนผู้ประกอบการ ทั้งในส่วนของต้นทุนพลังงาน ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนทางการเงิน ยังค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโลก 5.2 ความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือกับรูปแบบและมาตรการทางการค้าใหม่ รวมถึงมาตรการตอบโต้อื่น
นายชัยชาญ กล่าวว่า สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1. เร่งรัดให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พณ.) รายเดือนหรือรายไตรมาส เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนการค้าระหว่างประเทศ 2. จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การโปรโมทสินค้าในรูปแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงระดับโลก รวมถึงการจัดคณะผู้แทนทางการค้าไปเยือนประเทศคู่ค้าสำคัญ3. เร่งเจรจาการค้าเสรีและจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางการค้ากับคู่ค้าสำคัญ รวมถึงเร่งเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ
4. ส่งเสริมการลงทุนของไทยในประเทศเป้าหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า 5. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการผลิตเพื่อส่งออกให้สอดคล้องกับมาตรฐานสินค้าของประเทศคู่ค้าปลายทาง ทั้งในส่วนของสถานประกอบการทั่วไป และสถานประกอบการในพื้นที่ Free Zone 6. ขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งประสานความร่วมมือดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดภายในท่าเทียบเรือแหลมฉบังโดยด่วน
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี