นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เห็นชอบหลักการของร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... เพื่อดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน(Financial Hub) เพื่อเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
กฎหมายใหม่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพิจารณาใบอนุญาตและการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub ครบวงจร เป็นสากล และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งให้มีหน่วยงานหลักกำหนดนโยบายในการส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และกำหนดนโยบายในการพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน (Ecosystem) ทั้งการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก
ร่าง พ.ร.บ. ประกอบด้วย 9 หมวด 96 มาตรายกเว้นกฎหมาย 7 กฎหมาย กำหนดรายละเอียดธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินให้เป็นหน่วยงานให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Authority: OSA) กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจและกลไกการขออนุญาต กำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุน รวมไปถึงแนวทางการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักสากล โดยสรุปหลักการร่าง พ.ร.บ. ได้ดังนี้
1) ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ
2) ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใน Financial Hub ประกอบไปด้วย1. ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 2.ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3. ธุรกิจหลักทรัพย์ 4. ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6. ธุรกิจประกันภัย 7. ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ 8. ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงิน ต้องมีสถานที่ตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนด ต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามกำหนด
3) การขออนุญาต จะต้องยื่นขอใบอนุญาตผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority : สำนักงาน OSA) ที่จะตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) โดยมีคณะกรรมการ OSA ทำหน้าที่ 1.กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub 2. กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเป้าหมาย 3. กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาต 4.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต รวมทั้งการเพิกถอน 5.กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล
4) สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีตามที่ คกก. กำหนด โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เป็นต้น
การพัฒนาไทยให้เป็น Financial Hub เป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย พัฒนาภาคการเงินของประเทศไทย รวมทั้งสร้างโอกาสให้แก่แรงงานไทยดังนี้
1. พัฒนาระบบการเงินและนวัตกรรมทางการเงินสร้างไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินโดยการเข้ามาของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินระดับโลกจะนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกและทันสมัยทำให้ไทยระบบนิเวศการเงินที่ทันสมัย เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคโดยไทยจะเป็นประเทศต้นๆ ในโลกที่เปิดกว้างสำหรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใน Financial Hub
2. พัฒนาทักษะแรงงานไทยซึ่งการเข้ามาของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินระดับโลกจะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะทางการเงินที่ทันสมัย และเปิดโอกาสให้แรงงานไทยได้ทำงานในบริษัทชั้นนำและพัฒนาศักยภาพของตนเอง
3. สร้างโอกาสการจ้างงานและรายได้ที่สูง
4. เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคารสำนักงาน ระบบขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี