นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ไว้เท่ากับการประชุมเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเติบโตได้ราว 2.4-2.9% มูลค่าการส่งออก ขยายตัว 1.5-2.5% และอัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 0.8-1.2%
ทั้งนี้ที่ประชุมประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวจำกัด การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงและทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเป็นความท้าทายต่อการส่งออก ส่วนภาคอุตสาหกรรมบางสาขาเผชิญการแข่งขันจากสินค้าต่างชาติ ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแนวทางเพื่อลดผลกระทบทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากกระแสการแยกขั้วของ Supply Chain ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งในปีที่ผ่านมาการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาทสูงสุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ ยังต้องเร่งทำข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติมจาก FTA ไทย-EFTA ที่เพิ่งสำเร็จ เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตามสงครามการค้ารอบใหม่เริ่มแล้วที่เม็กซิโก แคนาดา และจีน ท่ามกลางการตอบโต้ โดยสหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าต่อกลุ่มประเทศเป้าหมาย ทั้งต่อเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% และจีนในอัตรา 10% ซึ่งจะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 และจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นในปี 2569 นอกจากนี้ยังผลักดันนโยบายเร่งด่วนผ่านการใช้คำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order) รวมถึงนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ครอบคลุมทั้งประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม การจัดการคนเข้าเมือง และการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส เป็นต้น
อีกทั้งความขัดแย้งทางการค้ากดดันสินค้าจากต่างชาติเข้ามาแย่งตลาดและกระทบต่อภาคการผลิตของไทย สินค้าต่างประเทศที่ล้นตลาดจากปัญหาสงครามการค้าและการแยกขั้ว (De-coupling) ทะลักเข้ามาในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตและการจ้างงาน ซึ่งจากการศึกษาผลกระทบดังกล่าวตามข้อเสนอในสมุดปกขาวของ กกร. โดยกระทรวงพาณิชย์ พบว่า กลุ่มสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เหล็ก พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แก้วและกระจก เครื่องสำอาง เป็นต้น
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้หารือแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่สหรัฐฯ ที่เริ่มมีการประกาศบังคับใช้กับเม็กซิโก แคนาดา และจีนแล้ว ซึ่งประเทศคู่กรณีดังกล่าวได้ส่งสัญญาณตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษีและมาตรการทางการค้ากลับสหรัฐฯ ทำให้การค้าโลกได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันสินค้าจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจจะไหลทะลักกลับมาที่ประเทศไทยและประเทศคู่ค้าของไทย ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ กกร. จึงเสนอแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือทั้งผลกระทบจากทางตรงและทางอ้อม ดังนี้ 1.การเจรจาระดับรัฐเพื่อป้องกันและบรรเทาการใช้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจร่วมกัน 2.การสนับสนุนในด้านกฎหมาย กฎระเบียบการค้า เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ 3.การบูรณาการเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในประเทศและการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน4.การใช้มาตรการทางการค้าเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping :AD) ปรับลดระยะเวลาการไต่สวนการใช้มาตรการทางการค้า และการใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522
5.การควบคุมการตั้งหรือขยายโรงงาน รวมทั้งการให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ (Over Capacity) รวมถึงการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมในเขต Freezone อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำสินค้าและวัตถุดิบกลับมาขายในประเทศ 6.การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MIT) ทั้งการ เพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การส่งเสริมขยายตลาดภาคเอกชน รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไข การใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศในโครงการรัฐ เช่น การกำหนดการใช้สินค้าไทยในโครงการบ้านเพื่อคนไทย ไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯด้วย
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ที่ประชุมมีแนวทางดำเนินการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยมีมาตรการสำคัญ ดังนี้ 1. สนับสนุนการให้เงินอุดหนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อเร่งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาลดปัญหาฝุ่นละอองและการเผาในภาคเกษตรกรรม 2. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าไม้ ให้เกิดการบริหารจัดการที่ยั่งยืน ลดปัญหาไฟป่า และกระตุ้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 3. ผลักดันกลไกภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในคณะกรรมการต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ. อากาศสะอาด และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4. สนับสนุนการใช้แผนที่ One Map และเตรียมความพร้อมปฏิบัติตามมาตรการ EUDP ภายใต้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) เพื่อบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ 5. ใช้กลไกความร่วมมืออาเซียน เพื่อประสานการป้องกันและควบคุมปัญหาฝุ่น PM2.5 และไฟป่าในระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ประชุม กกร.ยังสนับสนุนแนวทางการยกระดับการจัดการบัญชีม้าของสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ทั้งนี้เพื่อความสำเร็จจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาภัยทางการเงิน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม (Telco)ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ให้บริการ E-Wallet รวมถึงภาคประชาชน ที่ต้องตื่นตัวและรู้เท่าทันภัยทางการเงิน เพื่อให้แก้ไขและป้องกันภัยทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ตัดกระแสไฟฟ้าที่ส่งไป 5 จุด ในเมียนมานั้น มีผลกระทบการค้ากับไทยค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากปัจจุบัน เมียนมา มีเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ส่งผลให้ประชากรยังมีความต้องการสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่มองว่าจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี