ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
หลังรับตำแหน่งเพียงไม่ถึงเดือน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการตามนโยบาย America First ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาก่อน และสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเข้มงวดผู้อพยพ การหันหลังให้นโยบายสีเขียวและถอนตัวออกจากข้อตกลง Paris Agreement ล่าสุดยังเปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่ (Trade War 2.0) ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 10% และอยู่ระหว่างเจรจากับเม็กซิโกและแคนาดา ภายใต้เงื่อนไขการพิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศ 25% ในเดือนหน้า ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้า 15% สำหรับถ่านหินและ LNG และ 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท รวมถึงจำกัดการส่งออกแร่หายาก โดยสงครามการค้ารอบใหม่จะส่งผลกระทบและมีข้อพึงระวังที่ธุรกิจไทยต้องปรับกลยุทธ์เพื่อเตรียมรับมือ ดังนี้
• ก่อนอื่นมีข้อสังเกตว่า การดำเนินมาตรการภายใต้ Trump 2.0 เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าสมัยแรก โดยเฉพาะ Trade War 2.0 ที่เริ่มต้นในไม่ถึงเดือนหลังรับตำแหน่งและมาตรการต่าง ๆ ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะกับจีน แต่พุ่งเป้าไปที่ประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ที่เกินดุลกับสหรัฐฯ และที่สำคัญการดำเนินมาตรการส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อกดดันให้เกิดการเจรจาต่อรองที่จะเอื้อประโยชน์สูงสุดให้แก่สหรัฐฯ ดังเช่นที่กำลังต่อรองกับแคนาดาและเม็กซิโก
• สำหรับ Trade War 2.0 ระยะแรก ซึ่งสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 10% คาดว่าจะยังส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากนัก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าและโลจิสติกส์ของจีนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะไทย ทำให้แม้จีนถูกเก็บภาษีอีก 10% ไทยก็อาจยังได้ประโยชน์ไม่มากนักจากการส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ แทนจีน อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจีนเพิ่มขึ้นอีกในระยะถัดไป ไทยก็มีโอกาสได้อานิสงส์เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องระวังสถานการณ์ที่จีนนำสินค้าที่ไม่สามารถส่งไปตลาดสหรัฐฯ มาทุ่มตลาดประเทศอื่น รวมถึงไทย แทน
• นอกจากนี้ ไทยยังต้องพึงระวังความเสี่ยงจากการถูกดำเนินมาตรการจากสหรัฐฯ จากที่กล่าวไปแล้วว่า Trump 2.0 มีการดำเนินมาตรการที่รวดเร็วและเข้มข้น ทำให้การที่ไทยเป็นคู่ค้าที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ อันดับที่ 12 มูลค่าราว 40,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 อาจกลายเป็นเป้าของสหรัฐฯ ในการใช้มาตรการการค้ามากดดันไทยเพื่อให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น สหรัฐฯ อาจขู่ขึ้นภาษีกับไทยเพื่อเจรจาให้ไทยนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการไต่สวน AD/CVD จากสหรัฐฯ ที่อาจมีมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นการย้ายฐานมาจากจีน เช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับสินค้าแผงโซลาร์
• สำหรับแนวทางรับมือความเสี่ยงต่าง ๆ ในปี 2568 ภาคธุรกิจต้องเน้นกลยุทธ์ในการแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อเป็น Buffer ลดความผันผวนของการพึ่งตลาดสหรัฐฯ และจีนที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักในสงครามการค้าครั้งนี้ เช่น ตลาดอินเดีย ที่เป็นประเทศวางตัวเป็นกลาง (Conflict-free Country) และเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตดี รวมถึงตลาดฮาลาล ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงจากจำนวนชาวมุสลิมทั่วโลกที่มีอยู่ราว 2 พันล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรโลก ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางการค้าจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ มีแนวโน้มทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออกจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตามมา ทำให้การลดความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงิน เช่น การทำ Forward Contract เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงิน ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ส่งออกไทยในปีนี้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรทำ Scenario Planning เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจ ช่วยให้เตรียมตัวรับมือโดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงแก้ไข
การค้าโลกในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งแม้ว่าอาจมีบางประเทศหรือบางอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว แต่ภาพรวมของผลกระทบมีแต่จะบั่นทอนสถานการณ์การค้าโลก และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี