นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 30 มีนาคม - 26 ตุลาคม 2568 จะเข้าสู่ช่วงตารางบินฤดูร้อน (Summer Schedule) ซึ่งคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวนมาก จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนรองรับผู้โดยสารในทุกท่าอากาศยานทั้งของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้มีความพร้อมในการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ให้มีความรวดเร็ว และปลอดภัยสูงสุด เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทย
ทั้งนี้ จากการรายงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า กพท. ได้จัดสรรเวลาการบินในกำหนดการบินประจำฤดูร้อน 2568 (30 มีนาคม – 25 ตุลาคม 2568) ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเฉลี่ย 1,930 เที่ยวบินต่อวัน ได้รับการจัดสรรเที่ยวบินไปแล้วเฉลี่ย 1,202 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ประมาณ 16.36% ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง มีความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเฉลี่ย 1,222 เที่ยวบินต่อวัน ได้รับการจัดสรรเที่ยวบินไปแล้วเฉลี่ย 745 เที่ยวบินต่อวัน ลดลงจากช่วงก่อนโควิด-19 เล็กน้อย คิดเป็น 2.74%
ขณะที่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเฉลี่ย 444 เที่ยวบินต่อวัน ได้รับการจัดสรรเที่ยวบินไปแล้วเฉลี่ย 240เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 กว่า 17.65% ด้านท่าอากาศยานภูเก็ต มีความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเฉลี่ย 424 เที่ยวบินต่อวัน ได้รับการจัดสรรเที่ยวบินไปแล้วเฉลี่ย 340 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ประมาณ 7.59%
นายสุริยะ กล่าวว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้คาดการณ์จำนวนเที่ยวบินประจำฤดูร้อน 2568 (30 มีนาคม - 26 ตุลาคม 2568) รวมทั้งสิ้น 27,077 เที่ยวบิน แบ่งเป็น ภายในประเทศ จำนวน 25,395 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 6.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ เที่ยวบินระหว่างประเทศ จำนวน 1,682 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 43.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับจำนวนผู้โดยสารในช่วงตารางบินฤดูร้อน 2568 คาดว่า จะมีผู้โดยสารรวมจำนวน 7,887,295 คน เพิ่มขึ้น 10.52% เมื่อเทียบกับตารางบินฤดูร้อน 2567 แบ่งเป็น ผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 7,424,738 คน เพิ่มขึ้น 8.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และผู้โดยสารระหว่างประเทศจำนวน 462,557 คน เพิ่มขึ้น 65.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ สายการบินต่าง ๆ ยังเตรียมแผนเพิ่มเส้นทางบินใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการได้สะดวกมากขึ้น และมีราคาที่สมเหตุสมผลด้วย
อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานด้านการบินที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศ รองรับการให้บริการผู้โดยสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ได้ตั้งเป้าหมายให้ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายในระยะ 5 ปี
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ตามแผนการพัฒนาใน 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะสั้น (2567-2568) มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน 1.2 ล้านเที่ยวบิน สามารถรองรับผู้โดยสาร 180 ล้านคน, ระยะกลาง (2569-2571) ขยายความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเพิ่มเป็น 1.4 ล้านเที่ยวบิน และเพิ่มการรองรับผู้โดยสารเป็น 210 ล้านคน และระยะยาว (ปี 2572-2580) จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเป็น 2.1 ล้านเที่ยวบิน รองรับผู้โดยสารได้ 270 ล้านคน และจะต้องติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในทวีปเอเชียแปซิฟิก
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี