นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(11 ก.พ. 2568) ถึงกรณีที่มีรายงานนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เตรียมประกาศขึ้นภาษีอะลูมิเนียม และเหล็กที่นำเข้าสหรัฐฯทั้งหมด 25% จะกระทบกับประเทศไทยหรือไม่ ว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มสมาคมเหล็กแบบตรงไปตรงมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก มีมาตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว โดยมองว่าผลกระทบน่าจะไปเกิดขึ้นที่เม็กซิโกและแคนาดามากกว่า สำหรับไทยไม่มีอะไรใหม่เพราะเคยเกิดขึ้นแล้ว และคิดว่าไม่น่ามีผลกระทบอะไรมาก เพราะประเทศไทยส่งเหล็กไปสหรัฐฯไม่กี่แสนตัน
อย่างไรก็ตาม ที่เป็นห่วง คือ การตั้งกำแพงภาษีกับประเทศผู้ผลิตที่ส่งไปสหรัฐฯไม่ได้ก็จะไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและสมาคมเหล็ก เตรียมมาตรการตั้งรับสินค้าที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทย อาทิ มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กเพิ่มเติมในประเทศไทย รวมถึงการเข้ามาของธุรกิจต่างด้าว ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีการเข้มงวดตรวจตราโรงงานที่ประดิษฐ์สิ่งของที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องเหล็ก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาตีตลาดของเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศมาโดยตลอดโดยเฉพาะเหล็กจากประเทศจีน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2560 ที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยแรก และอเมริกาได้ใช้มาตรา 232 (Section 232) อ้างเหตุความมั่นคงของชาติ ตามกฎหมายการขยายการค้า (Trade Expansion Act) ปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG)กับสินค้าเหล็กตั้งแต่ปี 2561 กำหนดอากร 25% กับสินค้าเหล็กทุกประเภท และสงครามการค้าได้ขยายวงโดยสหภาพยุโรปได้ใช้อากร Safeguard 25% กับสินค้าเหล็กเช่นกัน ทำให้เหล็กจากจีนทะลักเข้ามาในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2567 จีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กมาอาเซียนกว่า 40 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนมากเกือบ 40% ของการส่งออกเหล็กจีนไปทั่วโลก โดยในปี 2566 ไทยนำเข้าเหล็กสำเร็จรูปจากจีน 4.5 ล้านตัน และปี 2567ไทยนำเข้าเหล็กจากจีน 5 ล้านตัน คิดเป็นกว่า 45% ของการนำเข้าทั้งหมด ในขณะที่การผลิตเหล็กของไทยอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านตัน คิดเป็นการใช้กำลังการผลิตเพียง 30% ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 15-16 ล้านตัน/ปี
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และแกนนำ 10 สมาคมเหล็ก เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร. (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) ได้แสดงความกังวลต่อการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ และเสนอต่อรัฐบาลว่านอกจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) แล้ว กระทรวงพาณิชย์ต้องพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆ ด้วยตามความจำเป็น ได้แก่ มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(Safeguard : SG) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) เพื่อให้การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์
“ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีการใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) ได้แก่ อินโดนีเซีย 25 มาตรการ เวียดนาม 5 มาตรการ ฟิลิปปินส์ 4 มาตรการ มาเลเซีย 3 มาตรการในขณะที่ประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการ Safeguard มากว่า 6 ปีแล้ว และไม่เคยใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) เลย”นายนาวากล่าว
นายนาวากล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการป้องกันแก้ไขในช่วงสงครามการค้าโลกรุนแรง ได้แก่ 1.สินค้าจีนซึ่งไปอเมริกาและสหภาพยุโรปได้ยากขึ้น ก็จะยิ่งทะลักมาอาเซียน ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่กล้าใช้มาตรการทางการค้าบางอย่าง 2.ผู้ผลิตในไทยที่ใช้วัตถุดิบจากจีนแล้วส่งออกไปอเมริกา และสหภาพยุโรป จะถูกเพ่งเล็งและอาจถูกใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention) สินค้าจากจีนที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และตอบโต้การอุดหนุนอยู่เดิม 3.การลงทุนจากจีนมาเปิดโรงงานในประเทศไทยจะส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันที่มีอยู่เดิมและมีกำลังการผลิต(Production Capacity) ล้นเหลืออยู่แล้วในประเทศไทย ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากนักลงทุนจีน จนผู้ประกอบการเดิมบางรายต้องปิดกิจการลง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี