11 ก.พ. 2568 ที่อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสากล (Safer Internet Day 2025) ยกระดับรับมือข้อมูลลวง 4.0 เพื่อลดภัยคุกคามโลก โดย นายธนภณ เรามานะชัย Lead Trainer ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) และ Certified Trainer ของ Google News Initiative (GNI) กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีล่าสุด ที่ GNI สนับสนุนโคแฟคจัดอบรมให้ความรู้นิสิต-นักศึกษาในสาขาวิชานิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนทั่วประเทศ เน้นทำความเจ้าใจเกี่ยวกับข้อมูลข่าวลวงต่างๆ รวมถึงการใช้เครื่องมือดิจิทัลตรวจสอบข้อมูลและสร้างสรรค์เนื้อหา
ซึ่งคำถามหนึ่งที่ตนถามผู้เข้ารับการอบรมเสมอคือ ได้ใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง หรือ Generative AI ทำอะไรบ้าง เนื่องจากผู้ใหญ่มักมองว่าคนรุ่นใหม่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างคล่องแคล่ว และน่าจะตกเป็นเหยื่อข่าวลวงได้น้อยกว่าผู้สูงอายุ แต่สิ่งที่ได้พบจากการจัดอบรมหลายๆ ครั้ง คือแม้จะใช้เครื่องมือได้คล่องแคล่ว แต่ยังขาดความเข้าใจในการใช้เครื่องมือเพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างถูกต้องรอบด้าน รวมถึงการพิจารณาว่าแหล่งข้อมูลแบบใดหรือบุคคลแบบไหนที่น่าเชื่อถือจนสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้
ตัวอย่างของเครื่องมือ Generative AI เช่น Chat GPT หรือ Gemini ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยตั้งคำถามว่า คำตอบที่ AI บอกกับเรานั้นมาจากไหน และตนอยากชวนให้คิดว่า Generative AI เป็นเครื่องมือสืบค้นข้อมูลจริงหรือไม่ ทั้งนี้ การตั้งคำถามแบบที่ถาม Chatbot ตนไม่ค่อยกังวล แต่หากเป็นการเขียนคำสั่ง Prompt เพื่อให้ AI ค้นหาคำตอบมายืนยัน แบบนี้จะรู้สึกกังวลว่ากำลังเข้าใจวัตถุประสงค์ของแอปพลิเคชั่นประเภทนี้ผิดไปหรือไม่
“จริงๆ เราต้องมาทำความเจ้าใจกันก่อนว่า Generative AI ไม่ใช่เครื่องมือสืบค้นข้อมูล แต่ว่ามันคือเครื่องมือสร้างสรรค์เนื้อหาและช่วยในการคิดไอเดียใหม่ๆ เนื่องจากว่า Generative AI จะรู้คำตอบ คือคำตอบที่มันได้มามาก-น้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มันเรียนรู้ หรือว่าระบบ Training Model ดังนั้นหากถามในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือว่าการตีความทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งบางครั้งข้อมูลประเภทเหล่านี้สามารถตีความได้อย่างหลากหลาย ดังนั้น Generative AI เหล่านี้อาจตอบคำตอบในสิ่งที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน หรืออาจสมมติคำตอบขึ้นมา” นายธนภณ กล่าว
นายธนภณ กล่าวต่อไปว่า 2 แพลตฟอร์ม Generative AI อย่าง Chat GPT หรือ Gemini รวมถึงแอปฯ แนว Chatbot ก็เริ่มจะมีฟังก์ชั่นการตรวจสอบข้อมูลในตัวแอปฯ เอง รวมถึงให้ Link แหล่งข้อมูลอ้างอิง ซึ่งดีกว่าช่วงแรกๆ ที่แอปฯ เหล่านี้เปิดตัว แต่ก็ต้องมาดูการเขียนคำสั่งหรือ Prompt ที่อาจทำให้ AI เกิดอาการหลอน (Hallucination) ต้องระมัดระวังการใช้คำที่มีความหมายกำกวม เช่น คำพ้องรูปต่างๆ โดยไม่อธิบายให้ชัดเจนว่าเราต้องการจะสื่ออะไร ก็สุ่มเสี่ยงให้คำตอบออกมามีความหมายไม่ตรงกับที่เราต้องการ
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ประมาณ 1 ปี ที่ตนสอนการใช้ Generative AI ในงานผลิตข่าวและเนื้อหา ในฐานะคนที่ทำงานด้านส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) คือการปลูกฝังความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้เครื่องมือ AI อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถสรุปได้ 4 ข้อ คือ 1. Generative AI ต้องใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน ผู้ใช้งานต้องเห็นว่า Generative AI เป็นผู้ช่วยส่วนบุคคล ต้องสั่งงานให้ทำ 2.ต้องไม่ใช้ Generative AI เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลหลัก ต้องตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลต้นทาง รวมถึงใช้ร่วมกับ Search Engine หรือเครื่องมือค้นหาบนอินเตอร์เน็ตด้วย
3.Prompt คือคำสั่ง ไม่ใช่คำถาม ดังนั้นการเขียน Prompt ต้องเน้นการออกคำสั่ง การใช้งาน Generative AI ที่ดี คือการสั่งให้ทำ จึงเป็นการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ และ 4.การส่งเสริมการเรียนการสอน เนื่องจากปัจจุบันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอคนใช้ Generative AI เช่น นักศึกษาใช้เครื่องมือนี้ในการทำงานส่งอาจารย์ จึงอยากให้หลายๆ ภาคส่วนหันกลับมามองการเรียนการสอนแบบเน้นกระบวนการไปตามลำดับขั้น โดยเฉพาะทักษะการเขียนคำสั่ง Prompt เริ่มตั้งแต่ลำดับพื้นฐานประโยคและไวยากรณ์ที่จำเป็นในการออกคำสั่งให้ตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“เหมือนกับเรากลับไปสู่พื้นฐาน เรื่องการใช้ภาษาสื่อสารอย่างไรให้เข้าใจง่าย มีบริบทครบถ้วน มองว่า AI เป็นเสมือนนักเรียนคนหนึ่งที่เขาอาจจะได้ศึกษาความรู้ต่างๆ มามากมาย แต่ว่าการที่เราจะให้เขาทำงานให้เราสักชิ้น เราก็ต้องมีการออกแบบขั้นตอนกระบวนการให้กับเขา ไม่เช่นนั้นเขาจะทำผลงานออกมาไม่ตรงตามที่เราต้องการ” นายธนภณ กล่าว
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี