นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า Medical Hub เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบริการทางการแพทย์และสุขภาพให้มีคุณภาพสูงที่ครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้สนใจด้านสุขภาพจากทั่วโลก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งยกระดับอุตสาหกรรม Wellness and Healthcare ให้พร้อมรับมือเทรนด์สุขภาพโลกที่กำลังมาแรง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้ร่วมเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในหัวข้อ “เปิดโลกทัศน์ธุรกิจสู่เวทีโลก”ภายใต้หลักสูตร Medical Hub Executive Program 2025 (MEP 2025) ซึ่งจัดโดย มูลนิธิกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ณ โรงแรมกาลนาน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท จังหวัดนนทบุรี เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริหารและผู้ประกอบการในธุรกิจ Wellness and Healthcare ให้มีความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ การตลาด การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ลูกค้าพร้อมศึกษาดูงานจากสถานประกอบการจริง และนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
โดยผู้ประกอบธุรกิจ Wellness and Healthcare ในปัจจุบัน นอกจากจะต้องมีทักษะความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การตลาดแล้ว ยังควรมีความเข้าใจในข้อกำหนด กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA และการยกระดับการบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยคุณภาพตามมาตรฐานสากล การรวมกลุ่มเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจและสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดการขยายเครือข่ายภายในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน รองรับการปรับตัวและเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการกระตุ้นให้ธุรกิจบริการไทยมีความพร้อมปรับตัวรองรับกติกาการค้าตามระเบียบโลกใหม่
ทั้งนี้ ธุรกิจ Wellness and Healthcare มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการที่ผู้ประกอบการควรศึกษาและทำความเข้าใจแนวโน้มเหล่านี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีบริการคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (DBD DataWarehouse+) ทางลัดที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาข้อมูล เพื่อวางแผนธุรกิจและปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศ
ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคอีกหลายประการ การพัฒนาธุรกิจ Wellness and Healthcare อย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการยกระดับมาตรฐาน พัฒนาบุคลากร เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ส่งเสริมการตลาด และปรับตัวรองรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติอย่างแท้จริง ซึ่งกรมฯ มองเห็นแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในธุรกิจ Wellness และ Healthcare อย่างเต็มที่ อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2568) ประเทศไทยมีนิติบุคคลธุรกิจ Healthcare & Wellness คงอยู่จำนวน 28,536 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 359,321 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาท โดยแบ่งตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ 1) บริการสปาและนวดเพื่อสุขภาพ 1,806 ราย ทุน 10,315 ล้านบาท 2) บริการความงาม 2,421 ราย ทุน 6,574 ล้านบาท 3) บริการทางการแพทย์ 9,570 ราย ทุน 218,202 ล้านบาท 4) บริการดูแลผู้สูงอายุ 765 ราย ทุน 4,216 ล้านบาท 5) ค้าส่ง-ปลีก เภสัชภัณฑ์ทางการแพทย์ 13,974 ราย ทุน 120,014 ล้านบาท
-032
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี