นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่า 997.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 79.14% กลับมาเป็นบวกได้ต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,442.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 48.38% ยอดรวมทั้งปี 2567 (มกราคม-ธันวาคม) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 9,609.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.99% หากรวมทองคำ มูลค่า 18,367.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.49%
ตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เพิ่ม 5.69% สหรัฐเพิ่ม 14.51% อินเดีย เพิ่ม 118.04% เยอรมนี เพิ่ม 9.63% เบลเยี่ยม เพิ่ม 16.25% อิตาลี เพิ่ม 2.34% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.40% ส่วนสหราชอาณาจักรลด 5.37% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 0.30%สวิตเซอร์แลนด์ ลด 7.77%
การส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 3.91% เครื่องประดับเงินเพิ่ม 18.22% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 24% พลอยก้อน เพิ่ม 42.66% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 5.64% กลุ่มพลอย ยังคงเป็นสินค้าที่ขยายตัวได้ดีเพราะมีการซื้อไปลงทุน เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 4.41% แพลทินัม เพิ่ม 4,4497.57% จากการส่งออกไปอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดในอันดับ 1 เพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยส่งออกในปีที่แล้ว รวมทั้งญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ตลาดอันดับ 2-3 ก็ส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลด 5.35% เพชรก้อน ลด 8.79% และเพชรเจียระไน ลด 7.53% จากการส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอล และสหรัฐ ลดลง
สำหรับทิศทางการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ในปี 2568 การส่งออกน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องจับตาปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส รวมทั้งนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเก็บภาษีนำเข้าประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐ ในลำดับต้นๆ และมาตรการตอบโต้ด้านต่างๆ ที่สหรัฐ มองว่าไม่เป็นธรรมอาจนำไปสู่สงครามการค้าในระยะอันใกล้ ซึ่งหลายปัจจัยนี้ จะมีผลต่อเนื่องและอาจเป็นกำแพงกีดกันการค้าโลกในปี 2568 และส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการปรับตัวผู้ประกอบการต้องใช้ประโยชน์จากการที่อุตสาหกรรมค้าปลีกได้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล โดยพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแนวทางจากการขับเคลื่อนด้วยเทรนด์สำหรับคนจำนวนมากไปเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยความมีเอกลักษณ์สำหรับแต่ละบุคคล หรือเปลี่ยนจากแบบกลุ่มขนาดใหญ่เป็นแบบกลุ่มย่อย ทำให้ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ทั้งการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า การตลาด และการทำธุรกิจในด้านต่างๆ โดยต้องให้ความสำคัญกับการดึงดูดผู้บริโภคเชิงคุณค่า การปลดล็อกการเชื่อมโยงช่องทางการตลาดแบบ Omnichannel และการสร้างประสิทธิภาพความเชี่ยวชาญสำหรับตลาดแบบเฉพาะบุคคลมากให้ขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี