นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานระบบสำหรับประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอมและสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมทั้ง 5 กลุ่มข่าว และกลุ่มนิติกร พร้อมมอบโล่รางวัล “พันธมิตรยอดเยี่ยมแห่งปี 2024” ให้แก่หน่วยงานร่วมบูรณาการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข่าวสารในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นางสาวยุพาภรณ์ ศิริกิจพาณิชย์กูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงดีอี และผู้แทนจากหน่วยงานเครือข่ายผู้ประสานงานฯ เข้าร่วม ณ โรงแรม เซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti Fake News Center: AFNC) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 โดยมีเป้าหมายหลักคือ แก้ไขและป้องกันปัญหาข่าวปลอมที่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบอย่างรวดเร็วทันท่วงที ก่อนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน บูรณาการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายผู้ประสานงานกว่า 300 หน่วยงาน ที่ทำการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข่าวสาร
ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้แบ่งข่าวสารที่ผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง เป็น 5 กลุ่มข่าว ได้แก่ 1.เรื่องนโยบายรัฐบาล ความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมั่นคงภายในประเทศ 2.เรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย 3.เรื่องเศรษฐกิจ 4.เรื่องภัยพิบัติ และ 5.อาชญากรรมออนไลน์
สำหรับปัจจุบันมีประชาชนติดตามและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
1) Website : www.antifakenewscenter.com จำนวน 27,898,089 ผู้รับชม
2) Line Official Account : @antifakenewscenter จำนวน 2,791,452 ผู้ติดตาม
3) Facebook : Anti-Fake News Center Thailand จำนวน 120,515 ผู้ติดตาม
4) Twitter : @AFNCThailand จำนวน 18,313 ผู้ติดตาม
5) TikTok: @AFNC_Thailand จำนวน 1,874 ผู้ติดตาม
6) Instagram: @AFNC_Thailand จำนวน 1,010 ผู้ติดตาม
ขณะเดียวกันกระทรวงดีอี ยังได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยมีประชาชนเข้าถึงการแจ้งเตือนภัย ในปี 2566 จำนวนเฉลี่ย 22.25 ล้านครั้ง/เดือน และในปี 2567 จำนวนเฉลี่ย 23.50 ล้านครั้ง/เดือน รวมแล้วมีประชาชนเข้าถึงมากกว่า 570 ล้านครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายที่มีการทำข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน เช่น สมาคมธนาคารไทย 16 ธนาคาร เครือข่ายภาคสื่อมวลชนที่ช่วยเผยแพร่ข่าวปลอมที่เป็นกระแส มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ ที่จะร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ
“กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ให้ความสำคัญในการสร้างความเข้าใจและประสานงานร่วมกันของหน่วยงานพันธมิตร เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีแก่ประชาชน ผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูลอย่างรัดกุม โดยในอนาคตจะมีการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน และข่าวจริง และเร่งผลักดันให้เกิด Impact สูงสุด ในการเผยแพร่การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางออนไลน์ หรืออาชญากรรมออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน” รองนายกประเสริฐ กล่าว
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี