นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2568 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 57.9 เป็น 59.0 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นมา โดยมีปัจจัยสำคัญจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นและการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องโดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 52.6 56.2 และ 68.1 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 11 เดือน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนธันวาคม ที่อยู่ในระดับ 51.4, 55.3 และ 67.0 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มค่าดัชนีปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 41.3 เป็น 42.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 66.0 มาอยู่ที่ระดับ 67.0 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 11 เดือนทุกรายการ แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในอนาคตได้ หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่องและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติมทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ
“พิจารณาจากดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นบรรยากาศเศรษฐกิจเริ่มเคลื่อนตัวไปในทางฟื้นตัว และ ม.หอการค้าไทยยังคงเป้าจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 3% แต่ยังต้องเฝ้าระวัง 2 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น คือ 1. สงครามการค้า การสู้รบ 2. การเมือง ซึ่งล่าสุดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากทำให้เกิดปัญหาจะขาดเสถียรภาพได้” นายธนวรรธน์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี