นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับประเด็นการประกาศขึ้นภาษีประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐนั้น ประเทศไทยมีความเสี่ยงเช่นเดียวกันที่จะถูกปรับขึ้นภาษีในสินค้าบางประเภท เนื่องจากล่าสุดไทยเป็นประเทศที่เกินดุลสหรัฐเป็นลำดับที่ 10 อยู่ที่ประมาณ 4.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐจากเดิมที่ปี’62 สมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกไทยอยู่ลำดับที่ 14 ซึ่งเกินดุลอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นประเทศอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากเวียดนามที่เกินดุลการค้าจากสหรัฐ ดังนั้น จึงเป็นประเทศที่มีความเสี่ยง และน่าจะถูกจับตามองตามลำดับของการเกินดุล
“หลายฝ่ายได้คาดการณ์ว่าไทยน่าจะถูกปรับขึ้นภาษีภายใน 2-3 เดือนที่จะถึงนี้ หรือประมาณเดือนเมษายน ซึ่งต้องเรียนว่าไม่มีใครที่จะรู้ หรือระบุได้อย่างชัดเจน แต่แน่นอนว่าไทยมีโอกาสที่จะถูกปรับขึ้นภาษี เพราะเป็นประเทศที่ค่อนข้างโดดเด่นในการได้ดุลจากสหรัฐ” นายเกรียงไกร
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ หรือแนวทางที่ทรัมป์ถนัด และใช้บ่อย โดยเรียกว่าเป็นการดำเนินการจริงเพื่อเรียกประเทศเหล่านั้นเข้ามาเจรจา แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เช่น ในอดีตสหรัฐมีการเนรเทศชาวโคลัมเบียออกนอกประเทศโดยใช้เครื่องบินทหาร แต่ถูกโคลัมเบียโวยวายว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ และเป็นการปฏิบัติแบบไม่สุภาพ ซึ่งเมื่อโคลัมเบียโวยวายหนักขึ้นทรัมป์จึงประกาศขึ้นภาษี 25% แต่หากยังไม่หยุดโวยวายจะปรับภาษีขึ้นเป็น 50% โคลัมเบียจึงต้องยอมสงบ และส่งเครื่องบินจากประเทศตนเองไปรับผู้ที่ถูกเนรเทศกลับมา รวมทั้งกรณีของแคนาดากับเม็กซิโกเมื่อประกาศจะขึ้นภาษี 25% จึงทำให้เกิดการเจรจาระหว่างกัน และทำให้มีการชะลอออกไปก่อนในที่สุดสอดล้องกับกรณีของไทยและจีนซึ่งมองว่าสหรัฐฯเองต้องการจะเปลี่ยนรูปแบบการเจรจาจากพหุภาคีเป็นทวิภาคี เรียกเจรจาเป็นรายประเทศเพื่อต่อรองผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกัน
นายเกรียงไกร กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวไทยจะต้องมาพิจารณาว่าตัวเลขที่เกินดุลมาจากส่วนใด และอธิบายให้สหรัฐฯเข้าใจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น โดยเท่าที่ทราบการเกินดุลของไทยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากบริษัทสหรัฐฯที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (Seagate Technology) ซึ่งผลิตชิพและฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ปัจจุบันมีการใช้งานมากขึ้น ไทยจะต้องชี้แจงให้ได้ว่า กรณีดังกล่าวสหรัฐฯเป็นผู้ได้ประโยชน์จากภาษีไม่ควรนำมารวมกับส่วนที่ไทยเกินดุล เป็นต้น เพราะหากหักส่วนดังกล่าวเหล่านี้ออกไปไทยจะเกินดุลไม่มากเท่าใดนัก
“ไทยจะต้องทำการบ้านอย่างรอบคอบ โดยดูว่ามีสินค้าอะไรที่จะสามารถซื้อจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้นได้บ้าง เช่น สินค้าทางการเกษตรข้าวโพด กากถั่วเหลือง ธัญพืช เพื่อนำเข้ามาทำอาหารสัตว์ รวมถึงกลุ่มปิโตรเคมี และในอนาคตอาจจะมองเรื่องของการซื้ออาวุธ หรือเครื่องบิน ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันเพื่อไม่ให้เกิดการเกินดุลมากเกินไป ซึ่งจะช่วยทำให้ได้ประโยชน์ (Win-Win) ทั้ง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการเจรจา หรือล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) จะต้องเก่งสามารถนำเสนอ และพูดคุยต่อรองได้เป็นอย่างดี” นายเกรียงไกร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี