พาณิชย์ เร่งส่งออกกล้วยหอมไทย เล็งขยายสายพันธุ์กล้วยหอมเขียว เพิ่มพื้นที่ศักยภาพปลูกกล้วย สนองความต้องการตลาดใหญ่ญี่ปุ่น
นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ได้รับมอบหมายจากท่านพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้มาลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การปลูกกล้วยหอมทองเพื่อส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น โดยหลังจากที่คณะท่านรัฐมนตรีฯ ได้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อติดตามการส่งออกกล้วยของไทยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และได้สั่งการให้มีการเพิ่มปริมาณผลผลิตในพื้นที่เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นยังต้องการกล้วยหอมของไทยเป็นอย่างมาก ผมจึงได้นำคณะกระทรวงพาณิชย์ นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากญี่ปุ่น ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยจากญี่ปุ่น และบริษัทผู้นำเข้าผลไม้สดและผลไม้แปรรูปจากญี่ปุ่น มาติดตามสถานการณ์และรับทราบปัญหาหลังจากที่ไทยได้ตกลงส่งออกกล้วยหอมทองไปยังญี่ปุ่นในปริมาณ 5,000 ตัน แต่ไม่สามารถส่งออกผลผลิตได้ตามเป้าหมาย ทุกหน่วยจึงต้องร่วมกันหาแนวทางในการผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น
นายคุณากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “โดยหลังจากที่ได้พูดคุยกับเกษตรกรในแปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง ก็ได้รับทราบปัญหาว่าปริมาณผลผลิตกล้วยหอมทองออกตามฤดูกาลในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. นอกนั้นผลผลิตค่อนข้างน้อย ทำให้โอกาสการส่งออกไม่เต็มที่ ซึ่งได้แนะนำให้เกษตรกรปลูกกล้วยหอมเขียวเพิ่มเติม เนื่องจากกล้วยหอมเขียวเป็นพันธุ์ที่ปลูกได้หลายพื้นที่ ให้ผลผลิตสูง ปลูกได้ทุกฤดูกาล ทนทานต่อโรค และมีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะแก่การส่งออก และที่สำคัญพี่น้องเกษตรกรสามารถเพาะปลูกและจำหน่ายตลาดต่างประเทศได้ตลอดทุกช่วงเวลา ทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องและแน่นอน จึงถือว่าเป็นการสร้างความมั่นคงของอาชีพและรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกร
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้กรมการค้าภายในได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการผลิตเพื่อการตลาดกล้วยหอมเขียวให้แก่กลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะเริ่มนำร่อง 500 ไร่ ในขณะเดียวกันทางทูตพาณิชย์จะเร่งประสานตลาดรองรับผลผลิตที่จะออกในอนาคตด้วย ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดที่บริโภคกล้วยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีปริมาณการบริโภคสูงถึงปีละ 1 ล้านตัน แต่ประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.1% เท่านั้น ซึ่ง ”กล้วยหอมเขียว“ เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น สามารถปลูกได้ดีในสภาพอากาศของประเทศไทย
ในขณะที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากกับคุณภาพของผลผลิต ความสม่ำเสมอในการส่งออก และความคงที่ของราคา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญหากไทยต้องการขยายตลาดส่งออกกล้วยไปยังญี่ปุ่น ในการนี้ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นจึงได้ลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำแก่เกษตรกรเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตและการจัดส่ง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามนอกจากจังหวัดนครราชสีมา กระทรวงพาณิชย์ยังได้นำคณะผู้แทนจากญี่ปุ่นลงพื้นที่จังหวัดตาก สระแก้ว และพัทลุง เพื่อสำรวจและให้คำปรึกษาเชิงลึกในการเตรียมความพร้อมในการเพาะปลูก ดูแล ตัดแต่ง บรรจุ และส่งออก ให้กับกลุ่มเกษตรกรพร้อมทั้งประเมินศักยภาพและคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีความเป็นไปได้ในการผลิตกล้วยหอมส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เกษตรกรไทยใช้สิทธิประโยชน์จากการได้รับการยกเว้นภาษีในการส่งออกกล้วยหอมไปญี่ปุ่น ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) ปริมาณ 8,000 ตัน/ปี ซึ่งที่ผ่านมาไทยส่งออกได้เพียง 1,500 ตัน
"จึงเป็นภารกิจสำคัญของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องร่วมกันผลักดันส่งเสริมการส่งออกภายใต้กรอบความตกลงดังกล่าวเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นการทำงานในเชิงรุกโดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” โดยเป็นการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยผลักดันให้มีปริมาณการส่งออกที่มากขึ้น ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน” นายคุณากร กล่าว
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี