ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (AOT) กล่าวถึงรายงานผลประกอบการงวด 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 ระหว่างเดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567 ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) AOT มีกำไรสุทธิ 5,344.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 781.27 ล้านบาท คิดเป็น 17.12% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ท AOT มีรายได้รวม 17,906.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.41%
อย่างไรก็ตามซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 1,956.27 ล้านบาท คิดเป็น 12.45% แบ่งเป็น รายได้เกี่ยวกับกิจการการบินมีจํานวน 8,804.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,727.76 ล้านบาท คิดเป็น 24.41% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารของ ทอท. โดยเฉพาะจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 19.05% และ 21.52% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินจํานวน 8,859.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 228.51 ล้านบาท คิดเป็น 2.65% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 10,353.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,086.70 ล้านบาท หรือ 11.73% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT งวด 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (เดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวม 33.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น16.41% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 20.85 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 12.77 ล้านคน ในขณะที่มีจำนวนเที่ยวบินรวม 204,549 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 14.78% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 117,333 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 87,216 เที่ยวบิน
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นว่า เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของภาครัฐ และวันหยุดยาว (Golden Week) ของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดระยะไกล (Long Haul) และตลาดระยะใกล้ (Short Haul) อีกทั้ง AOT ยังสนับสนุนนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมเส้นทางการบินใหม่โดยลดค่าธรรมเนียมสำหรับสายการบินที่เปิดเส้นทางใหม่ โครงการลดค่าเช่าสำหรับสายการบินที่ย้ายไปใช้อาคาร SAT-1 และโครงการสนับสนุนการตลาดสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่และเชียงราย โดยการให้เงินสนับสนุน 300 บาทต่อผู้โดยสารหนึ่งคนสำหรับเที่ยวบินที่เข้าเงื่อนไข เป็นต้น
นอกจากนี้ AOT ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาท่าอากาศยานให้เป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก โดยมีการยกระดับมาตรฐานการให้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ให้มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวและการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (SAT-1) ที่สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน เป็น 65 ล้านคนต่อปี การสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติและทางวิ่งเส้นที่ 3 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ที่สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคน เป็น 50 ล้านคนต่อปี รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต
ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ นอกจากนี้ AOT ยังได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาให้บริการเพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบใหม่และความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้โดยสาร เช่น การนำระบบเช็กอินอัตโนมัติ ระบบตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคล (Biometric Identification) ระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (ABC) ที่รองรับ E-passport กว่า 90 ประเทศ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารและเวลาในการตรวจหนังสือเดินทาง ระบบการจัดการข้อมูลแบบ A-CDM และระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (SBG) เป็นต้น
ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน AOT ได้ดำเนินงานโดยคำนึงถึง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐานสากล เช่น DJSI, GRI และ PDPA ทั้งยังได้รับการจัดอันดับเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ติดต่อกัน 6 ปี และท่าอากาศยานภายใต้การดำเนินงานของ AOT ยังได้รับการรับรอง Airport Carbon Accreditation ครบทั้ง 6 แห่ง ทั้งนี้ AOT มุ่งเป้าให้ท่าอากาศยานเป็น Green Airport และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ Net Zero ภายในปี 2587 ในระดับนานาชาติ อาคาร SAT-1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังได้รับรางวัล “ท่าอากาศยานสวยที่สุดในโลกปี 2567” จาก Prix Versailles ของ UNESCO ซึ่งเป็นการยืนยันความสำเร็จในการผสานเอกลักษณ์ไทยเข้ากับสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนจากความมุ่งมั่นเหล่านี้
ทั้งนี้ AOT ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคและเชื่อมโยงการเดินทางทางอากาศแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับท่าอากาศยานของไทยให้เป็น 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็น 1 ใน 10 ของโลก และสามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี