Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยจะยังขยายตัวได้ แต่ก็มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ นโยบายการค้าของสหรัฐฯ รอบใหม่อาจกดดันการส่งออก รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกระทบต่อต้นทุนการส่งออก อีกทั้งต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นและกฎระเบียบทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่เข้มงวด อาจกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการ รวมทั้งการแข่งขันในตลาดส่งออกอาจทวีความรุนแรง เนื่องจากอุปทานสินค้าพืชเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ในปี 2568-2569 เช่น ข้าว ในปี 2568 คาดว่าภาพรวมมูลค่าการส่งออกข้าวไทยจะอยู่ที่ราว 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง -29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY ) จากปริมาณการส่งออกข้าวที่ลดลงมาอยู่ที่ราว 7.8 ล้านตัน หรือลดลง -21%YoY จากการยกเลิกนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย ที่ทำให้อานิสงส์จากการที่ผู้นำเข้าข้าวหันมานำข้าวไทยทดแทนอินเดียหมดลง และส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลง โดยคาดว่าราคาส่งออกข้าวขาว 5% เฉลี่ยของไทยจะอยู่ที่ 450-460 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือลดลง22-24%YoY ทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงขาดทุนสต๊อก ประกอบกับยังต้องติดตามปัญหาต้นทุนค่าขนส่งที่คาดว่ายังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจกระทบความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมข้าว
ส่วนในปี 2569 คาดว่า มูลค่าการส่งออกข้าวไทยจะอยู่ที่ราว 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือลดลง -5%YoY โดยในแง่ปริมาณการส่งออกข้าวอยู่ที่ราว 7.6 ล้านตัน หรือลดลง -3%YoY จากแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคาที่ต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และจุดขายของสายพันธุ์ข้าวไทยเริ่มไม่เป็นจุดแข็งในการส่งออก เนื่องจากข้าวพันธุ์พื้นนุ่มของเวียดนามมีราคาถูกและรสชาติดีกว่า ซึ่งโดยรวมปริมาณการส่งออกข้าวทั้ง 2 ปีนับว่าอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับในช่วงปี 2557-2561 หรือปี 2567 ที่เคยส่งออกได้เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน
ขณะที่ยางพารา ในปี 2568-2569 คาดว่า มูลค่าการส่งออกยางแผ่นและยางแท่งจะอยู่ที่ 3.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 3.61 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง -5.8% YoY และ -1.4%YoY ตามลำดับ ตามราคาส่งออกยางแผ่นยางแท่งที่ปรับตัวลดลง -9.8%YoY และ -4.4%YoY จากผลผลิตยางพาราตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่คลี่คลาย แม้ว่าปริมาณการส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.0%YoY และ 3.0%YoY ตามลำดับ จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตในจีนที่ค่อยๆ ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการผลิตรถยนต์ของจีนในปี 2568-2569 จะมีจำนวน 31.3 ล้านคัน และ 32.5ล้านคัน ตามลำดับ จาก 30.1 ล้านคัน ในปี 2567อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความรุนแรงของปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่คาดว่าจะส่งผลกระทบชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจทำให้การส่งออกยางแผ่นยางแท่งของไทยเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจีนขยายตัวต่ำกว่าที่คาด
ในปี 2568-2569 คาดว่า มูลค่าการส่งออกน้ำยางข้นจะอยู่ที่ 8.69 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ และ 8.57 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ หรือลดลง -7.8%YoY และ -1.4%YoY ตามลำดับ ตามราคาส่งออกที่ลดลงมาอยู่ที่ 1.3 พันเหรียญสหรัฐฯ/ตัน และ 1.2 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ หรือลดลง -9.8%YoY และ -4.4%YoY ตามลำดับ ตามผลผลิตยางพาราโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการส่งออกในปี 2568-2569คาดจะเพิ่มขึ้น 2.0%YoY เป็น 0.69 ล้านตัน และ 3.0%YoY เป็น 0.71 ล้านตัน ตามลำดับ จากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตในอุตสาหกรรมยางทางการแพทย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ด้านมันสำปะหลัง ในปี 2568-2569 ผลผลิตมันสำปะหลังคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก อีกทั้งการควบคุมการระบาดของโรคใบด่างให้อยู่ในวงจำกัดมากขึ้น ส่วนการนำเข้าหัวมันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านคาดจะเพิ่มขึ้น หากไม่มีปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังระบาดรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม การส่งออกต้องเผชิญปัจจัยกดดันจากการแข่งขันด้านราคากับราคาข้าวโพดในจีนที่มีราคาถูกกว่า เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น คาดว่า ในปี 2568 มูลค่าส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดจะอยู่ที่ราว 458 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัว -4%YoYซึ่งเป็นผลจากราคาส่งออกที่ลดลงถึง -23%YoY ตามทิศทางราคาข้าวโพดในตลาดจีนที่ลดลงมาก แม้ปริมาณส่งออกจะขยายตัว 20%YoY (ขยายตัวสูงจากฐานที่ต่ำในปี 2567)
ส่วนในปี 2569 คาดว่ามูลค่าส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดจะอยู่ที่ 500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือขยายตัว 9%YoY เพราะแม้ราคาส่งออกจะลดลง -5%YoY แต่ปริมาณส่งออกขยายตัวได้ 15%YoY อย่างไรก็ตาม ยังเป็นระดับมูลค่าส่งออกที่ไม่ได้สูงกว่าช่วง Peak ในช่วงปี 2564-2565เช่นเดียวกับมูลค่าส่งออกแป้งมันสำปะหลังในปี 2568 จะอยู่ที่ราว 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัว -15%YoY ซึ่งเป็นผลจากราคาส่งออก ที่ลดลงถึง -20%YoY แม้ปริมาณส่งออกจะขยายตัว6%YoY ส่วนในปี 2569 คาดว่ามูลค่าส่งออกแป้งมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 2,173 ล้านเหรียญสหรัฐหรือหดตัว -1%YoY โดยราคาส่งออกจะลดลง 5% YoY แม้ปริมาณส่งออกขยายตัว 4%YoY
สำหรับผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งในปี 2568-2569 คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งจะอยู่ที่ 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 7.5%YoY และ 9.1%YoY ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากปริมาณผลผลิตผลไม้ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวย ประกอบกับความต้องการบริโภคผลไม้เมืองร้อนของชาวจีนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกทั้งคาดว่าการส่งออกจะได้รับประโยชน์จากการขนส่งผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และการขนส่งผ่านด่านท่าเรือกวนเหล่ยภายหลังทางการจีนเปิดด่านท่าเรือกวนเหล่ยเป็นด่านนำเข้าผลไม้สดจากต่างประเทศแห่งใหม่ในมณฑลยูนนานตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2567 เป็นต้นไปซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มทางเลือกการขนส่งผลไม้ทางภาคเหนือของไทย
อย่างไรก็ดี การส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนยังเผชิญปัจจัยท้าทายเกี่ยวกับมาตรฐานควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนสดที่ส่งออกไปจีนมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยทางการจีนกำหนดมาตรการให้ทุเรียนที่ส่งออกจากไทยไปจีนจะต้องมีเอกสารรับรองการตรวจวิเคราะห์สาร Basic Yellow 2 และแคดเมียม ซึ่งหากพบสารต้องห้ามจะระงับการนำเข้าทันที โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2568
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
ส่วนไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ในปี 2568-2569 คาดว่า มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4,528 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 4,844 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 5.0%YoY และ 7.0%YoY ตามลำดับ และปริมาณการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปจะอยู่ที่ 1.20 ล้านตัน และ 1.24 ล้านตัน หรือขยายตัว 3.9%YoY และ 4.0%YoY ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีทิศทางฟื้นตัว ตามการเติบโตของการท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหาร ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการส่งออกไก่ แปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นที่ยังขยายตัว ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในญี่ปุ่นที่นิยมบริโภคอาหารพร้อมทาน รวมทั้งการระบาดของไข้หวัดนกในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะช่วยหนุนการนำเข้าไก่เนื้อของไทยเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจะยังได้รับผลดีจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในจีน อีกทั้งยังได้รับผลดีจากการ ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในจีนและเวียดนาม ทำให้มีการนำเข้าไก่เนื้อเพื่อทดแทนสุกรมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องแข่งขันกับบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่ของโลกที่มีความได้เปรียบจากการเป็นผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองรายใหญ่ ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย
สำหรับการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยยังได้รับผลดีจากทางการจีนรับรองโรงงานผลิตและแปรรูปไก่แช่แข็งไทยเพิ่มอีก 3 โรง จากเดิมที่ได้รับการรับรองและส่งออกแล้ว 23 โรงงาน รวมเป็น 26 โรงงาน นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกไปยังซาอุฯ เนื่องจาก ซาอุฯ เป็นประเทศผู้นำเข้าไก่รายใหญ่อันดับ 6 ของโลกประกอบกับภาครัฐของไทยมีการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไก่ ซึ่งเป็นไก่ฮาลาลไปยังซาอุฯ เพิ่มขึ้นหลังจากการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตทั้ง 2 ประเทศ
Krungthai COMPASS มองว่า แม้ในเบื้องต้นการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าสินค้าในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค และสหรัฐฯ ผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้า แต่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
การประเมินสินค้าที่อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับขึ้นภาษี มีการพิจารณา ดังนี้ กลุ่มที่ 1 สินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว อาหารสัตว์เลี้ยง ปลา และยางพารา เนื่องจากในปี 2567 ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง โดยสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นมูลค่า 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 54% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด
กลุ่มที่ 2 สินค้าที่ไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของการส่งออกไปสหรัฐฯ สูง แม้จะเกินดุลการค้าไม่มากนัก เช่น สิ่งปรุงรสอาหาร และน้ำผลไม้ ซึ่งอาจนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้น โดยสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นมูลค่า 470 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9%ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด
Krungthai COMPASS มองว่า แม้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2568 จะขยายตัวได้ แต่มีปัจจัยที่ต้อง ติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้ 1.นโยบายการค้าของสหรัฐฯ รอบใหม่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไทยที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของการส่งออกไปสหรัฐฯสูง 2.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่อาจกระทบต่อต้นทุนการส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยยังได้รับแรงกดดันจากต้นทุนค่าขนส่งทางเรือที่แม้มีแนวโน้มลดลงในปี 2568 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง นอกจากนี้ หากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์มีความรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดตะวันออกกลางในสัดส่วนที่สูง เช่น สินค้าในกลุ่มข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
3.ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น กดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 กำหนดให้ 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ตฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง กับ 1 อำเภอ (เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี) มีค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันซึ่งอาจกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น อย่าง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เป็นต้น 4.กฎระเบียบทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่เข้มงวด เช่น กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป (EUDeforestation-free products: EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้จริงตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2568 สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และ 30 มิ.ย. 2569 สำหรับ บริษัท SMEs ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในกลุ่มยางพาราและปาล์มน้ำมันมีต้นทุนจากการดำเนินการตาม EUDR ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
5.การแข่งขันในตลาดส่งออกทวีความรุนแรง เนื่องจากอุปทานสินค้าพืชเกษตรเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรในหลายประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารของหลายประเทศบรรเทาลง ตัวอย่างเช่น การที่อินเดียประกาศยกเลิกนโยบายจำกัดการส่งออกข้าว หลังจากประเมินว่าผลผลิตภายในประเทศมีเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ จากสภาพอากาศที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่มีนโยบายชะลอการนำเข้าข้าว เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารที่บรรเทาลง จากผลผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลกลดลง ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นปัจจัยที่กดดันราคาข้าวตลาดโลกในอนาคต
Krungthai COMPASS
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี