ll จะพูดว่า..ทองคำ...คือสินทรัพย์ที่ทรงคุณค่าที่สุดสำหรับมนุษย์และเป็นเช่นนั้นมานานนับพันปีจนถึงปัจจุบัน...และตลอดระยะเวลา 2-3 ปีมานี้มูลค่าของทองคำเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด...ย้อนไปแค่ 1 ปีก่อน ราคาทองคำในปี 2567 เพิ่มขึ้น กว่า 5 พันบาทต่อ 1 บาททองคำ และในปี 2568 ราคาทองคำในตลาดโลกก็ยังเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ตลอดช่วงเดือนกว่ามานี้
สภาทองคำโลก (World Gold Council : WGC) ได้เปิดเผยข้อมูลความต้องการทองคำทั่วโลกที่รวมปริมาณการซื้อขายทองคำนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter : OTC) ซึ่งได้ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ด้วยจำนวนรวม 4,974 ตัน โดยประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่มีความแข็งแกร่งในปี 2567 และมีปริมาณความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่จำนวน 39.8 ตัน คิดเป็นการเติบโตสูงถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สภาทองคำโลกระบุว่าความต้องการทองคำทั่วโลกในปี 2567 นั้นได้รับแรงขับเคลื่อนจากการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งของธนาคารกลาง และการเติบโตของความต้องการทองคำเพื่อการลงทุน ราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดใหม่หลายครั้งและปริมาณความต้องการที่พุ่งสูงในปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกันส่งผลให้ความต้องการทองคำรวมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ธนาคารกลางยังคงซื้อทองคำในปริมาณที่มหาศาลอย่างต่อเนื่องในปี 2567 โดยมีปริมาณการซื้อในระดับสูงกว่า 1,000 ตัน เป็นปีที่สามติดต่อกัน และการเข้าซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 4 จำนวน 333 ตัน ได้ส่งผลให้ยอดรวมการซื้อทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปีอยู่ที่ 1,045 ตัน ด้านอุปทานทองคำทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบเป็นรายปี และทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 4,794 ตัน จากทั้งการผลิตของเหมืองแร่และการรีไซเคิลทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น
ด้านความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลกนั้นได้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1,180 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำแท่งสำหรับนักลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ทั้งนี้กองทุน ETF ทองคำทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณทองคำจำนวน 19 ตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นับว่าเป็นกระแสการลงทุนในทิศทางไหลเข้าต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่สองสำหรับสินทรัพย์ประเภทนี้ ขณะที่ความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกยังคงระดับใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ปริมาณ 1,186 ตันสำหรับปี 2567 โดยประเทศไทยมีระดับความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาสที่ 4 จำนวน 14.6 ตันเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ปริมาณความต้องการของประเทศไทยรวมตลอดทั้งปี 2567 อยู่ที่จำนวน 39.8 ตัน
เนื่องจากสภาวะราคาทองคำที่พุ่งสูง สภาทองคำโลกจึงมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความต้องการทองคำเครื่องประดับนั้นเป็นแนวโน้มที่ไม่น่าแปลกใจ โดยปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับทั่วโลกสำหรับปี 2567 ได้ลดลง 11% อยู่ที่ระดับ 1,877 ตัน อย่างไรก็ตามความต้องการทองคำเครื่องประดับของไทยยังคงแข็งแกร่งและปรับลดลงเพียง 2% และมีความต้องการรายปีรวมเป็น 9.0 ตัน ทั้งนี้ การลดลงของความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกส่วนใหญ่นั้นมีที่มาจากประเทศจีน ซึ่งปรับลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อินเดียยังมีปริมาณความต้องการที่แข็งแกร่งและลดลงเพียง 2% เท่านั้น ภายใต้สภาวะของราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ด้านคุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ราคาทองคำที่สูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 นั้นถือว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนับว่ามีความแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่นๆ โดยมีปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับของไทยลดลงเพียง 2% ขณะที่ทั่วโลกได้ปรับลดลง 11% เราเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยจำกัดระดับการปรับตัวลดลงของปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับได้”
“ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่ความต้องการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของประเทศไทยแข็งแกร่งมาก และสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก โดยคนไทยได้มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ที่ทั้งสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และช่วยลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในประเทศได้ นอกจากนี้การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการออมทองคำในรูปแบบดิจิทัล ยังได้ช่วยสนับสนุนให้ความต้องการทองคำของประเทศไทยนั้นแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง” คุณเซาไก ฟาน กล่าว
สภาทองคำโลกยังได้ระบุว่า ทองคำในภาคเทคโนโลยีได้ทำสถิติรายไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เป็นต้นมาโดยมีความต้องการจำนวน 84 ตัน การเติบโตของปริมาณทองคำที่ใช้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณสุทธิรายปีรวม 326 ตัน
ขณะที่ คุณหลุยส์ สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ทองคำยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปี 2567 โดยราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40 ครั้งในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแนวโน้มความต้องการทองคำนั้นไม่ได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี 2567 โดยภาคธนาคารกลางมีความต้องการที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 1 ก่อนจะชะลอตัวลงในช่วงกลางปี และกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ขณะที่นักลงทุนฝั่งตะวันตกได้หันกลับมาสนใจลงทุนในทองคำอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเมื่อรวมกับกระแสเงินทุนจากฝั่งเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลให้กระแสการลงทุนในกองทุน ETF ทองคำทั่วโลกปรับทิศทางเป็นเชิงบวกในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี โดยความเคลื่อนไหวนี้มีที่มาจากการที่ธนาคารกลางหลายแห่งได้เริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงความไม่แน่นอนในระดับโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง”
“ในปี 2568 นี้ เราคาดว่าธนาคารกลางจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันตลาดทองคำต่อไป สนับสนุนด้วยนักลงทุนในกองทุน ETF ทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังมีความผันผวนก็ตาม ในทางกลับกันทองคำเครื่องประดับอาจยังคงชะลอตัวต่อไป เนื่องจากราคาทองคำที่สูงและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมหภาคนั้นน่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของปี ซึ่งสภาวะนี้จะช่วยเสริมความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยรักษามูลค่าและเป็นเครื่องมือลดผลกระทบจากความเสี่ยง”คุณหลุยส์ สตรีท กล่าว
ขณะเดียวกัน นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) กล่าวว่า ราคาทองคำโลก ได้ขึ้นไปทำราคาสูงสุดใหม่ตลอดกาลที่ 2,942.51 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ (เมื่อ วันอังคารที่ 11 ก.พ. 2568 ) ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ในประเทศก็ขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลที่ 47,450 บาทต่อบาททองคำ จนเข้าใกล้เป้าหมายที่ YLG มองไว้ที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และทองไทย 48,000 บาทต่อบาททองคำ ไปจนถึง 50,000 บาทต่อบาททองคำ หากได้อานิสงส์เพิ่มเติมจากเงินบาทอ่อนค่า
ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทองคำปรับตัวขึ้นยังคงมาจาก 4 ปัจจัย ดังนี้ 1. ความกังวลในความไม่แน่นอนด้านนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ล่าสุดได้ลงนามประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมทั้งหมดเข้าสู่สหรัฐ สู่ระดับ 25% โดยไม่มีข้อยกเว้น จากเดิมที่ระดับ 10% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มี.ค. 2568 แม้ว่าก่อนหน้านี้จะยกเว้นภาษีจากแคนาดาและเม็กซิโกให้ 1 เดือน แต่ทั้งสองประเทศอาจได้รับผลกระทบอีกครั้ง เพราะต่างมีการส่งเหล็กและอะลูมิเนียมให้สหรัฐในสัดส่วนที่สูง นอกจากนี้ “ทรัมป์” ยังได้ส่งสัญญาณวางแผนประกาศใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เพิ่มเติมอีก
2. ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังเพิ่มขึ้นเมื่อกลุ่มฮามาสระงับการปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอล โดยอ้างว่าอิสราเอลฝ่าฝืนการหยุดยิงในฉนวนกาซา ในขณะที่ “ทรัมป์” กล่าวว่าฮามาสต้องปล่อยตัวประกันทั้งหมดที่ถูกจับตัว ภายในเที่ยงวันเสาร์ที่ 15 ก.พ. 2568 มิฉะนั้นเขาจะเสนอให้ยกเลิกข้อตกลงหยุดยิง 3. ความคาดหวังของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง กำลังสนับสนุนทองคำที่ไม่ให้ผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ย โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ได้ตามแผนถึงสองครั้ง ในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางอินเดีย ได้ลดอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรนเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้ ตามการเคลื่อนไหวที่คล้ายกันของ ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางสวีเดน และธนาคารแห่งประเทศจีน 4. การซื้อทองคำของธนาคารกลาง ยังเพิ่มดีมานด์ทองคำแท่งอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่มีระดับการเข้าซื้อสูงเกิน 1,000 ตัน โดยในเดือนม.ค. 2568 ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้เพิ่มปริมาณทองคำสำรองเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ ทองคำยังได้ปัจจัยหนุนเพิ่มเติมมาจากการที่ สำนักงานกำกับดูแลการเงินแห่งชาติของจีน (NFRA) จัดตั้งโครงการ (pilot scheme) อนุญาตให้บริษัทประกันภัยในจีนสามารถลงทุนในทองคำแท่งได้มากถึง 1% ของสินทรัพย์ทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างการจัดสรรสินทรัพย์ประกันภัย
สำหรับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำนั้นเข้าใกล้ราคาเป้าหมายที่ให้ไว้เร็วกว่าที่คาด ทั้งนี้ วายแอลจีนยังคงเป้าหมายเดิม 3,000 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ไว้เป็น Base Case แต่หากโมเมนตัมทองคำยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง มองว่าจะมีโอกาสขึ้นทดสอบเป้าหมายถัดไปที่ 3,100 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ และทองคำแท่ง 96.5% ในประเทศ หากผ่าน 48,000 บาทต่อบาททองคำ จะมีโอกาสขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 50,000 บาทต่อบาททองคำ
l อนันตเดช พงษ์พันธุ์ l
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี