“พิชัย”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะบีโอไอ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย เยือนญี่ปุ่น วันที่ 19 - 21 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ จัดงานสัมมนาใหญ่ “Thailand - Japan Investment Forum” และพบนักลงทุนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อหารือแผนขยายฐานผลิตในไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ เกษตรและอาหาร พร้อมจับมือพันธมิตร เสริมความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม เผยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 1,176 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 19 - 21 กุมภาพันธ์ 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะนำคณะหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง โดยบีโอไอ ร่วมกับธนาคาร SMBC และพันธมิตรภาคธุรกิจญี่ปุ่น จัดสัมมนาใหญ่ “Thailand-Japan Investment Forum 2025” ณ โรงแรมอิมพีเรียล กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยขณะนี้มีนักลงทุนและผู้บริหารบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นลงทะเบียนเข้าร่วมงานแล้วมากกว่า 300 ราย
ทั้งนี้ภายในงานสัมมนารองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการบีโอไอ จะนำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากบีโอไอและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนญี่ปุ่น นอกจากนี้จะมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากบริษัทญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งจะมีการร่วมออกบูธให้ข้อมูลโดยผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (Thai Trade Center) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมของไทย (อมตะ WHA โรจนะ เอเซีย)ธนาคารกรุงเทพ องค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) สมาคมความร่วมมือทางเทคนิคในต่างประเทศของญี่ปุ่น (AOTS) สมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น - ไทย(JTECS) และธนาคาร SMBC ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน
นอกจากนี้คณะรัฐบาลไทยจะพบกับผู้บริหารบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเป็นรายบริษัท ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ เกษตรและอาหาร เพื่อหารือแผนขยายการลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งจะพบกับ นายมูโตะ โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) เพื่อหารือความร่วมมือด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ภายใต้กรอบความร่วมมือ Energy and Industry Dialogue (EID) รวมทั้งหน่วยงานสำคัญอื่นๆของประเทศญี่ปุ่น เช่น Leading-Edge Semiconductor Technology Center (LSTC) สถาบันด้านเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของญี่ปุ่น และหน่วยงานด้านเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะและเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทยด้วย
“นักลงทุนญี่ปุ่นถือเป็นพันธมิตรสำคัญของไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเป็นประเทศที่มีเงินลงทุนสะสมมากที่สุดในไทย การจัดโรดโชว์ครั้งนี้มีเป้าหมาย 2 ประการ ข้อแรกคือ การสร้างความมั่นใจในหมู่นักลงทุนญี่ปุ่น ทั้งที่มีฐานอยู่ในไทยแล้ว และที่กำลังตัดสินใจโยกย้ายฐานการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อเกิดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยยังคงสนับสนุนและพร้อมเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในอนาคต อีกประการหนึ่งคือ การนำเสนอโอกาสการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์แะอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (xEV) เกษตรอัจฉริยะ อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง พลังงานใหม่ รวมทั้งกลุ่ม SMEs และ Startup ของญี่ปุ่น ซึ่งมีศักยภาพที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ”นายนฤตม์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2567) ญี่ปุ่นได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 1,176 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี