นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์การดำเนินนโยบายทรัมป์ 2.0 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างใกล้ชิด หลังจากกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง พร้อมให้คำมั่นว่าจะนำสหรัฐฯ “ก้าวเข้าสู่ยุคทอง” และสานต่อนโยบายที่ได้วางรากฐานไว้เมื่อ 8 ปีก่อน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า และความมั่นคง ภายใต้แนวคิด AMERICA FIRST หรือ อเมริกาต้องมาก่อน ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้านโยบายและมาตรการตามที่ตนได้ หาเสียงไว้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการด้านการค้าระหว่างประเทศ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนมาตรการจัดระเบียบผู้อพยพ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและโลก ผ่านการออกคำสั่ง ฝ่ายบริหาร หรือ Executive Order ฉบับสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และหันมาส่งเสริมการขุดเจาะน้ำมัน การทำเหมือง และการพัฒนาก๊าซธรรมชาติภายในประเทศ เพื่อช่วยลดราคาพลังงาน และบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี การถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวเป็นที่จับตามองว่า อาจเป็นโอกาสให้จีนก้าวมาเป็นผู้นำ ในตลาดพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ และยานยนต์ไฟฟ้า,การปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรอีก 10% กับสินค้านำเข้าทั่วไปจากจีน มีผลใช้บังคับ มาตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ขณะที่จีนได้ตอบโต้มาตรการภาษีดังกล่าวด้วยการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรอีก 15% กับสินค้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ และอีก 10% กับสินค้าน้ำมันดิบ อุปกรณ์ทางการเกษตร และรถยนต์นั่งและรถบรรทุก รวมทั้งออกมาตรการควบคุมการส่งออก แร่หายาก (critical minerals) ที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง พลังงานสะอาด และการป้องกันประเทศ
ขณะที่การเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 25% กับสินค้านำเข้าทั่วไปจากแคนาดาและเม็กซิโก ยกเว้นสินค้ากลุ่มพลังงานของแคนาดาที่เก็บในอัตรา 10% ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 แต่ต่อมาได้มีการเลื่อนวันบังคับใช้ออกไปเป็นวันที่ 4 มีนาคม 2568 โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า ทั้งสองประเทศได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมาย และการลักลอบนำเข้ายาเสพติด อย่างไรก็ตาม หากถึงเวลาที่คำสั่งมีผลใช้บังคับ แต่ทั้งสองประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเพียงพอ สหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการเก็บภาษีนำเข้าตามที่ได้ระบุไว้ ส่วนการปรับขึ้นภาษีกับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม นำเข้าจากทุกประเทศ สู่อัตรา 25% มีผลใช้บังคับวันที่ 12 มีนาคม 2568 อาศัยอำนาจตามมาตรา 232 ของ The Trade Expansion Act 1962 เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมภายในประเทศ ถือว่า มีผลกระทบต่อคู่ค้าหลายประเทศ ซึ่งเดิมสหรัฐฯ เก็บภาษีกับสินค้านำเข้าดังกล่าวในอัตราที่ต่ำ โดยรวมไม่เกินอัตรา 10% แต่กำลังจะเพิ่มภาษีขึ้นไปกว่า 2 เท่าตัว ย่อมสร้างผลกระทบด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับผลกระทบต่อไทย มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ของไทยอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการส่งออกสินค้าในรายการที่จะถูกใช้มาตรการทางภาษีประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 16.8% ของมูลค่าส่งออกเหล็กฯ ไปยังสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม (รองจากจีน) ซึ่งในปีที่ผ่านมามีมูลค่าส่งออกสินค้าในรายการที่จะถูกใช้มาตรการทางภาษีประมาณเกือบ 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 72.8% ของมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าไทยได้รับผลกระทบน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ เนื่องจากสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปยังประเทศข้างเคียงในทวีปอเมริกา ซึ่งมีตลาดส่งออกสินค้าดังกล่าวกระจุกตัวอยู่ที่ตลาดสหรัฐฯ เกินกว่า 50% ของมูลค่าส่งออกสินค้านั้น ๆ
นอกเหนือจากมาตรการข้างต้น ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ไทยต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเตรียมใช้ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) คาดว่าอาจนำมาใช้ในช่วงเดือนเมษายน 2568 หลังจากที่หน่วยงานต่าง ๆ จะส่งผลการทบทวนและการตรวจสอบการดำเนินนโยบายการค้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการเตรียมผลักดันเสนอร่างกฎหมายการค้าต่างตอบแทน ต่อสภาคองเกรสในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐฯ กำลังดำเนินการตามข้อสั่งการประธานาธิบดีภายใต้นโยบาย “AMERICA FIRST TRADE POLICY” ที่สั่งการให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทบทวนนโยบายเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน กับประเทศคู่ค้าทั่วโลกของสหรัฐฯ และให้รายงานผล ตลอดจนข้อเสนอแนะ และการดำเนินการที่เหมาะสมไปยังประธานาธิบดีภายในเดือนเมษายน 2568 โดยข้อสั่งการสามารถสรุปได้โดยง่าย มี 4 ข้อสั่งการที่สำคัญ คือ 1. ทบทวนและตรวจสอบการค้าของประเทศคู่ค้าทั่วโลก 2. ทบทวนความตกลงทางการค้าของสหรัฐอเมริกา 3. ทบทวนความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน และ 4. ตรวจสอบประเด็นที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ การศึกษาและติดตามนโยบายของสหรัฐฯ รวมถึงการบริหารงาน ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความสำคัญยิ่ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และติดตามนโยบายที่ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เพื่อให้สามารถปรับตัวและใช้โอกาสจากมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์โดยคณะผู้บริหารเยือนสหรัฐฯ เพื่อเร่งหารือกระชับความสัมพันธ์ทั้งกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ของสหรัฐฯ ตลอดจนผลักดันความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และเทคโนโลยีร่วมกัน
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี