นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ระดับ 91.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 90.1 ในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกขยายตัวจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเร่งนำเข้าเพื่อสต็อกสินค้า โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) อีกทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 (ช่วง 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568) คาดว่าจะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 70,000 ล้านบาท
รวมถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) โอนเงิน 10,000 บาท เฟส 2 วงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามามากว่า 532,853 คน ในเดือนมกราคม 2568 และภาครัฐลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อาทิ มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 33 บาท/ลิตร (1 มกราคม - 31 มีนาคม 2568) การปรับลดค่าไฟฟ้า อยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย จากเดิม 4.18 บาท (งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2568)
นายอภิชิต กล่าวว่า เดือนธันวาคม ยังมีปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และกฎระเบียบและมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและการส่งออกสินค้าของไทย รวมไปถึงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 กระทบต่อเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยวและสุขภาพประชาชน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง กระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวช้า อีกทั้ง ยอดขายรถยนต์ยังฟื้นตัวได้ช้า จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,347 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมกราคม 2568 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 50.4% เศรษฐกิจในประเทศ 48.5% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 35.3% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 25.0% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ 43.2% และราคาน้ำมัน 39.1%
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการแก้หนี้ในโครงการคุณสู้เราช่วย ช่วยลดภาระหนี้และค่าใช้จ่ายทางการเงินให้กับลูกหนี้รายย่อยและ SMEs สินคไทยอาจส่งออกได้มากขึ้นในบางอุตสาหกรรม อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จากการทดแทนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และจีนที่มีราคาสูงขึ้นจากการตอบโต้ทางภาษีระหว่างกัน ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วง High season
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวลในเรื่องที่สหรัฐฯ ประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอาจทำให้สินค้าจีนประสบปัญหาสินค้ามีมากกว่าความต้องการ ทำให้สินค้าเหลือ คงค้าง (Oversupply) และเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในไทยและอาเซียนมากขึ้น รวมถึงการใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีที่เพิ่มมากขึ้น อาจสร้างแรงกดดันที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าโลก
นายอภิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐดังนี้ 1. เสนอให้ภาครัฐชะลอการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ (Over Capacity) ในบางอุตสาหกรรม และเน้นส่งเสริมการลงทุนที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) รวมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนนอกเหนือจากมาตรการทางภาษี2. เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศทั้งการเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ส่งเสริมการขยายตลาดในภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกกับสินค้าที่ได้รับการรับรอง MiT 3. เสนอให้ภาครัฐเร่งเปิดเสรีในกิจการไฟฟ้า และจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเปิดเสรี โดยมีปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่ 3 (TPA : Third Party Access) เป็นการทั่วไป โดยเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดที่ได้ดำเนินการแล้ว 4. เสนอให้ภาครัฐใช้มาตรการทางการค้าอื่นๆ นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) เพื่อให้การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) รวมทั้งปรับระยะเวลาการพิจารณาใช้มาตรการทางการค้าให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์มากขึ้น และพัฒนาระบบติดตามแจ้งเตือน (Early Warning System) ปริมาณสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงผิดปกติ
นายอภิชิต กล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจไทยช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียนนั้น มองว่าหากภาครัฐมีการแก้กฎระเบียบข้อบังคับในการประกอบธุรกิจให้ลดน้อยลง และเพิ่มความเป็นดิจิทัลมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนสินค้า MIT ก็เป็นอีกหนึ่งแรงที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากนี้ภาครัฐควรออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ อาทิ มาตรการทางภาษี มาตรการคนละครึ่งเพื่อมากระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น โดยในปี 2568 ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีการประเมิณ GDP ขยายตัว 2.4-2.9%
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี