ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ครั้งล่าสุด (ธ.ค. 2567) กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% เพราะต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือเก็บ policy space ไว้เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อยามจำเป็นและตลาดมีความชัดเจน ไม่สับสนจากมาตรการการค้าโลกที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งหากทำไปล่วงหน้าแล้ว นโยบายการเงินอาจมีประสิทธิภาพด้อยลง ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและทิศทางอัตราเงินเฟ้อน่าจะขยับเข้ากรอบเป้าหมายของธปท.ในอนาคต แต่เมื่อเวลาผ่านไปราวเดือนเศษ เศรษฐกิจดูเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าในการประชุม กนง.ใน วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ทางกนง.จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% สู่ระดับ 2.00%
ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนลดดอกเบี้ยรอบนี้ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาด - หลัง GDP ไทยขยายตัวต่ำเพียง 2.5% ในปี 2567 และมีความไม่แน่นอนด้านกำลังซื้อแม้มีมาตรการภาครัฐกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ที่ยังอ่อนแอลากยาว ประกอบกับแรงส่งจากกลุ่มภาคบริการที่ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวเริ่มจำกัด เนื่องจากนักท่องเที่ยวในปีนี้เทียบปีก่อนไม่ได้สูงมากเหมือนปีก่อนและใกล้เข้าสู่ระดับก่อนโควิด อีกทั้งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คาด นอกจากนี้ด้านการก่อสร้างภาคเอกชนยังเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ จากทั้งการออกโครงการใหม่ที่ยังลดลงและจากความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แม้ในช่วงแรกเศรษฐกิจไทยจะมีแรงส่งจากการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ แต่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจจะเริ่มมีมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากประเด็นสงครามการค้าที่จะกระทบภาคการผลิตและลามไปสู่ภาคการบริโภค
ปัจจัยที่ 2 เงินเฟ้อเสี่ยงไม่ถึงกรอบล่างที่ 1% - ทั้งจากกำลังซื้อคนในประเทศที่ยังอ่อนแอจนผู้ประกอบการไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่ขยับสูงขึ้นให้ผู้บริโภคได้ และจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงจากความคลี่คลายด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในยูเครนและตะวันออกกลาง ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยที่ 3 กำลังซื้อครัวเรือนรายได้น้อยและ SMEs อ่อนแอ อาจลามไปกระทบธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเราเริ่มเห็นสินเชื่อที่หดตัวในธุรกิจขนาดเล็กและหลากหลายสินเชื่อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์และเช่าซื้อ จนอาจกระทบสภาพคล่องของธุรกิจขนาดใหญ่
ส่วนปัจจัยที่ 4 ป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า โดยสงครามการค้าน่าจะมีความชัดเจนและรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี รวมทั้งมีการตอบโต้จากชาติที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษี จนอาจทำให้การค้าโลกอ่อนแอลง จนกระทบภาคการผลิต การจ้างงาน การส่งออกและการบริโภคในประเทศ ซึ่งอาจต้องอาศัยมาตรการป้องกันผลกระทบหรือลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากมาตรการที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และ 5.พยุงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากจะใช้มาตรการทางการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็พอจะช่วยลดความน่าสนใจในการลงทุนสกุลเงินบาท โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งพอจะช่วยให้ เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าเทียบสกุลอื่นได้บ้าง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก
ดร.อมรเทพกล่าวอีกว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้ หรือพยายามรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบไตรมาสต่อไตรมาสให้ทรงตัว ไม่ปรับลดลง ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อในปีนี้อาจขยายตัวต่ำในช่วงแรกแม้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องด้วยความเสี่ยงด้านเครดิตยังสูง จากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวช้าและไม่กระจายตัวดีเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังกดดันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้เข้มงวดต่อไป ซึ่งเราคาดหวังมาตรการทางการคลัง ทั้งการก่อสร้าง การจ้างงาน และการลดค่าครองชีพต่างๆ มาช่วงพยุงกำลังซื้อในกลุ่มล่างนี้ เนื่องด้วยจะหวังพึ่งมาตรการทางการเงินอย่างเดียวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคงไม่ได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี