คณะอนุกรรมการ นบข.ด้านตลาด หน้าตาตื่นเคาะ 3 มาตรการช่วยข้าวนาปรัง สินเชื่อชะลอนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน เปิดจุดรับซื้อ รัฐให้ค่าบริหารจัดการ 500 บาท/ตัน และชดเชยดอกเบี้ย 6% โดยให้โรงสีซื้อข้าวในราคานำตลาด 200 บาท/ตัน พร้อมมาตรการคู่ขนานการรณรงค์การบริโภคข้าว นำข้าว 500,000 ตัน ผลิตข้าวถุงจำหน่ายราคาถูก เร่งรัดการส่งออกข้าวและเปิดตลาดใหม่แอฟริกาใต้ ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท/ตัน
วันที่ 20 ก.พ. 2568 เวลา 17.30 น. ที่ห้องประชุมกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด (คณะอนุกรรมการ นบข.ด้านตลาด) โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เข้าร่วม พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์ รองปลัดเกษตรฯ อธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวอีสาน นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ธ.ก.ส. ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวนาปรัง จากประเด็นที่เกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางและเหนือตอนล่าง โดยเปิดเผย ภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ นบข. ด้านตลาด ได้ร่วมกันพิจารณามาตรการการช่วยเหลือราคาข้าวนาปรังปี 2568 ก่อนนำเสนอ นบข. โดยได้มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือข้าวนาปรัง 2568 ดังนี้
1. ขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน ระยะเวลา 1-5 เดือน ในพื้นที่ 72 จังหวัด ปริมาณ 1.5 ล้านตัน วงเงิน 1,219.13 ล้านบาท
2. การเพิ่มช่องทางการตลาดในประเทศโดยเปิดจุดรับซื้อ รัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการตันละ 500 บาท ผู้ประกอบการช่วยซื้อในราคานำตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 300,000 ตัน ในพื้นที่ 72 จังหวัด งบประมาณ 150 ล้านบาท เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ต้องการจะขายเลย
3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกข้าว ช่วยดอกเบี้ยผู้ประกอบการ 6% สำหรับผู้ประกอบการเก็บสต็อก 2 - 6 เดือน และผู้ประกอบการรับซื้อราคาสูงกว่าตลาด 200 บ./ตัน ขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงิน 524.40 ล้านบาท
โดยทั้ง 3 มาตรการ ใช้งบประมาณรวม 1,893.53 ล้านบาท
"นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคู่ขนาน ในการกระตุ้นการบริโภคร่วมกับโมเดิร์นเทรดดึงซัพพลายส์ ออกจากตลาดจำนวน 500,000 ตันข้าวเปลือก จัดทำข้าวถุงจำหน่ายในราคาประหยัดต่อไป และในส่วนของการส่งออกได้มีการเร่งรัดการขอให้จีนซื้อข้าวของไทยตามสัญญาข้อตกลงระหว่างรัฐ ในปริมาณ 280,000 ตัน โดยเร็วที่สุด พร้อมเปิดตลาดส่งออกใหม่ที่แอฟริกาใต้ ดึ Supply ออกจากตลาดให้มากที่สุด ซึ่งตลาดดังกล่าวมีความต้องการบริโภคข้าวไทยเป็นอย่างมาก” นายพิชัย กล่าว
ด้านนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องอื่นๆ ของชาวนาเช่น ค่าบริหารจัดการตอซังและฟางข้าวอันเนื่องมาจากรัฐบาลออกมาตรการห้ามเผา เงินช่วยเหลือสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลางที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำ มีคณะอนุกรรมการนบข. ด้านการผลิตซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับไปพิจารณาแล้ว คาดว่าจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอต่อนบข. และครมพิจารณาตามลำดับ
นายปราโมทย์เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับราคาข้าว จากที่ตอนนี้ขายได้ประมาณ 6,000 บาทต่อตัน เป็น 8,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวสดซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ แต่อยากให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต ทั้งค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช ที่นับวันจะยิ่งแพงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5,500 บาทถึง 6,000 บาทต่อตัน ยังไม่รวมค่าบริหารจัดการตอซังและฟางข้าวจากนโยบายห้ามเผาซึ่งจะรอฟังคณะอนุกรรมการ นบข. ด้านการผลิตว่า จะมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติมอย่างไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี