เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 มีรายงานว่า ขณะนี้ฝ่ายบริหารและพนักงานในการท่าเรือแห่งประเทศไทย กำลังตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน เนื่องจากเมื่อเร็วๆนี้ ทางรัฐมนตรี และผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม ได้เรียกผู้อำนวยการการท่าเรือฯ และผู้บริหารท่าเรือกรุงเทพฯไปพบเพื่อพิจารณาแนวทางการเตรียมนำพื้นที่เกือบทั้งหมดไปใช้ประโยชน์สูงสุดตามเแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 2.3 พันไร่
โดยกำหนดพื้นที่สีเหลือง เป็นพื้นที่ท่าเทียบเรือ-โรงพักสินค้าริมน้ำ 1-9 และโรงพักสินค้าหลังท่าและคลังสินค้าต่างๆรวมเกือบ 600 ไร่ ความยาวหน้าท่ากว่า 1,000 เมตร เรือสินค้าทั่วไปเทียบท่าได้พร้อมกัน 9 - 10 ลำ ทำให้การท่าเรือฯจะเหลือพื้นที่ฝั่งตะวันออก เป็นพื้นที่ของท่าเทียบเรือตู้สินค้า(Containerfeeder และเรือ Container Motor Barge) โดยสั่งการให้การท่าเรือฯย้ายกิจกรรมในพื้นที่สีเหลืองออกไปให้หมด และส่งมอบพื้นที่ให้ภายในปี 2571
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ได้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับบิ๊กโปรเจ็กต์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ของรัฐบาลเพื่อหวังจะหารายได้ 2.4 แสนล้าน พลิกเศรษฐกิจ มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาใช้พื้นที่เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ อาทิ พื้นที่ท่าเรือ ว่า กำลังพิจารณารายละเอียดของพื้นที่หลายแห่ง ส่วนท่าเรือคลองเตยนั้น ตนเห็นว่ายังสามารถพัฒนาพื้นที่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่สวยมีวิวแม่น้ำ และสามารถพัฒนาเป็นที่จอดเรือยอชท์ได้ นอกจากนี้ยังมีความเหมาะสมหากมีการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการฯไม่เกี่ยวกับกระทรวงคมนาคม
สำหรับแผนการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ซึ่งมีนายสุริยะ เป็นประธานฯ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค.67 โดยอ้างถึงข้อนโยบายของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 2,353.2 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ต่อมาเมื่อช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย เพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจการดำเนินกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการ กทท. ให้มีความเหมาะสม
โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เปิดช่องให้สามารถตั้งบริษัทลูก เดินหน้าพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ-แหลมฉบังเต็มรูปแบบ เพื่อหวังดันเศรษฐกิจไทยฟื้น หนุนประชาชนมีรายได้เพิ่ม พร้อมมอบหมาย กทท. จัดทำแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และทำแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก่อนเสนอ ครม.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ถูกตั้งคำถามที่น่าสนใจโดยนายภัณฑิล น่วมเจิม สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาท่าเรือของประเทศไทย สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาแถลงแสดงความกังวลกรณีท่าเรือคลองเตย ภายหลังรมว.คมนาคม ระบุ พื้นที่คลองเตยเหมาะที่จะตั้งสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ ทำให้น่าเป็นห่วงว่าการแก้พ.ร.บ.การท่าเรือฯที่เปิดช่องให้เอกชนสามารถเข้ามาร่วมทุน ด้วยการจัดตั้งบริษัทลูกให้ร่วมลงทุนกับบริษัทมหาชน และบริษัทต่างชาติได้ ซึ่งจะขยายขอบเขตให้เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเปิดช่องให้ผุดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ด้วยหรือไม่
ขณะที่นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ได้ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่า การพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่การใช้พื้นที่เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ และไม่ใช่การย้ายท่าเรือกรุงเทพ แต่เป็นการปรับปรุงสถานที่ให้มีความเหมาะสมในพื้นที่กว่า 2,353 ไร่ โดยจะใช้พื้นที่หน้าถ้าเป็นท่าเรือสมาร์ทพอร์ต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี