ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หอการค้าไทย-จีน ได้เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยจีนประจำไตรมาสที่สองปี 2568 ซึ่งได้มีการสำรวจระหว่างวันที่ 18 - 27 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้ให้ข้อมูลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นประกอบด้วยจำนวน 459 ราย เพื่อรับทราบความคิดเห็นว่า สงครามการค้าของชาติมหาอำนาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2568 อย่างไร และผลกระทบที่จีนได้ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อสหรัฐอเมริกาต่อแนวโน้มที่จีนส่งออกสินค้ามายังประเทศไทย โดยผลของการสำรวจพบว่า 69% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ให้ความเห็นว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีผู้ตอบแบบสำรวจ 15.5% คิดว่าผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้นเพราะจะมีการเจรจาลดความขัดแย้งตามมา ขณะที่มีส่วนน้อยให้ความเห็นว่าผลกระทบนั้นอยู่ในระดับวิกฤต ส่วนความเห็นต่อสงครามการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มี 30.5% เห็นว่าผลกระทบนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ก็ยังมีอีก 51.5% ให้ความเห็นว่าจะมีผลกระทบเป็นอย่างมาก
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ระบุว่าสรุปได้ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนนั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องพึงระวัง ที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น โดยที่ผ่านมาจีนมีมาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และการตอบโต้ดังกล่าวของสองประเทศอาจจะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการค้าระหว่างไทยและจีน ซึ่ง 51% ของผู้ตอบแบบสำรวจลงความเห็นว่าอาจจะมีผลกระทบต่อไทยบ้าง ในขณะที่24.3% คาดว่าจะทำให้นักธุรกิจจีนมาลงทุนและค้าขายกับไทยมากขึ้น เพราะจีนเองนั้นก็ต้องหาแหล่งผลิตใหม่ และส่งสินค้าออกมายังตลาดที่นิยมสินค้าจีนอยู่แล้ว ส่วนแนวโน้มที่จีนส่งสินค้าออกมายังไทยโดยอาศัยแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเข้มแข็งของจีนนั้น 52.4% คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่อีก 33.7% ลงความเห็นว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
“กล่าวได้ว่าผลของมาตรการตอบโต้ของจีนต่อสงครามทางการค้ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่ในทางกลับกันจะทำให้นักธุรกิจจีนมาลงทุนในไทยและค้าขายกับไทยมากขึ้น โดยการค้าขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกันแต่อาจจะไม่มากนัก” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
ส่วนสินค้าส่งออกของไทยไปยังจีนนั้น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ใช้ทำยางล้อรถยนต์ จะชะลอตัวหรือหดตัวลงซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้า ซึ่งในสินค้าส่งออกเหล่านี้ เป็นสินค้าขั้นพื้นฐาน ชิ้นส่วนเพื่อนำไปประกอบ และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ที่จีนจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคเพื่อบรรเทาผลกระทบของสงครามการค้า ทางออกหนึ่งคือประเทศไทยควรเจรจาเปิดเสรีการค้าให้ครอบคลุมประเภทสินค้าและบริการให้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างอาเซียนกับอีกหกประเทศในภูมิภาค จากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 54 ให้ความเห็นว่าควรเร่งเจรจาเปิดเสรีโดยการลดภาษีให้ครอบคลุมรายการสินค้ามากขึ้นและเปิดภาคบริการให้มากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 42.3 ลงความเห็นว่าควรจะเจรจาแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องเร่งรีบ
ทั้งนี้ในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่มาเยือนประเทศไทยมีจำนวน 6.7 ล้านคน ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2566 เป็นที่ทราบดีเพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำรายได้ให้กับประเทศไทยสูงมากในแต่ละปี ในการสำรวจครั้งนี้ ได้สอบถามถึงปัจจัยท้าทายต่อการท่องเที่ยวของชาวจีนในปี 2568 ผู้ตอบแบบสำรวจ ให้ความเห็นว่าภาพลักษณ์ทางด้านความปลอดภัยและการหลอกลวงในประเทศไทยต้องรีบแก้ไขโดยเร็วที่สุด ประเด็นที่ตามมาคือสื่อออนไลน์ต่างประเทศที่ได้ประชาสัมพันธ์เชิงลบต่อการท่องเที่ยวในไทยต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วนตามมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนเมืองไทยมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี