ท่ามกลางการแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรง ค้าปลีกไทยกำลังเผชิญ แรงกดดันจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม สินค้านำเข้าราคาถูกทะลักเข้าสู่ตลาดไทยโดยขาดการควบคุม ขณะที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติเข้าครองส่วนแบ่งตลาดโดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อย ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นแต่กลับต้องแข่งขันกับสินค้าราคาต่ำที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หากไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ ค้าปลีกไทยอาจถูกบีบให้สูญเสียพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างถาวร
นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สินค้าต่างชาติเข้าตีตลาดไทยอย่างรวดเร็ว และอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อยและธุรกิจท้องถิ่น ได้รับผลกระทบหนักจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยปัญหาหลักประกอบด้วย สินค้านำเข้าราคาต่ำ ที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ธุรกิจไทยแข่งขันลำบาก การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย เปิดทางให้มีการใช้ "นอมินี" ดำเนินธุรกิจสีเทา การทำตลาดแบบ B2C ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ ซึ่งกฎหมายไทยยังควบคุมได้ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเสียส่วนแบ่งตลาดและหลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ผลกระทบไม่ได้จำกัดเพียงผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีกว่า 3.3 ล้านราย โดยเป็น ภาคค้าปลีกและบริการถึง 2.8 ล้านรายหรือเกือบ 90% แต่ ผู้บริโภคไทยก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เช่นกัน
ทั้งนี้เนื่องจากสินค้านำเข้าหลายรายการไม่มีมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องสำอาง และสินค้าไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้ธุรกิจไทย แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากปล่อยให้สถานการณ์นี้ดำเนินต่อไป ไม่เพียงแต่ธุรกิจค้าปลีกไทยจะถูกบีบให้ลดขนาดหรือปิดตัวลง แต่ยังอาจกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
อย่างไรก็ตามสมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงขอเสนอแนะ 3 แนวทางเร่งด่วน เพื่อสร้างสมดุลทางการแข่งขันและปกป้องเศรษฐกิจไทย ดังนี้ 1. คุมเข้มคุณภาพสินค้านำเข้า ปกป้องผู้บริโภคไทย สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศจำนวนมากอาจมีคุณภาพต่ำ ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอางตกมาตรฐาน โดยเฉพาะไม่มีฉลากภาษาไทย ภาครัฐควรปรับปรุงกฏระเบียบให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าตั้งแต่ต้นทาง เช่น กรมศุลกากรเปลี่ยนจากระบบสุ่มตรวจเป็นการตรวจสอบ 100% เพิ่มการใช้เทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพในการตรวจสอบให้แม่นยำ
รวมถึงการปิดช่องโหว่ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทุ่มตลาด เช่น การควบคุมราคาขั้นต่ำสำหรับสินค้านำเข้า ที่ต้องแสดงต้นทุนที่แท้จริง เพื่อป้องกันการขายตัดราคา เร่งเครื่องบทบาทภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ควรเข้มงวดกฏหมายการแข่งขันทางการค้าในกรณีตั้งราคาสินค้าต่ำกว่าทุน และปรับปรุงกฏให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น 2. ปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน การจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการและผลประโยชน์ของผู้บริโภคและประเทศชาติในระยะยาว
3. แก้ปัญหานอมินี ปิดช่องโหว่ธุรกิจต่างชาติ ควรมีมาตรการตรวจสอบการจัดตั้งบริษัทที่อาจสวมสิทธิ์โดยชาวต่างชาติ เพื่อป้องกันการเลี่ยงกฎหมายธุรกิจต่างด้าว ซึ่งกำหนดให้ชาวต่างชาติต้องมีหุ้นส่วนคนไทยไม่น้อยกว่า 51% โดยธุรกิจที่เสี่ยงต่อการใช้ช่องโหว่นี้ เช่น ร้านอาหาร, ซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้เพื่อให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าประเทศไทย กำหนดมาตรฐานการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เช่น มีการจ้างแรงงานไทยในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อลดอัตราการว่างงานของคนไทย กำหนดพื้นที่หรือโซนสำหรับธุรกิจของชาวต่างชาติ
ทั้งนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเชื่อว่าการปรับปรุงมาตรการทางการค้าและการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันอย่างเป็นธรรม จะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับภาคค้าปลีก ปกป้องผู้บริโภค และส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว.
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี