นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย เปิดเผยว่า กรมทางหลวง (ทล.) มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และปลอดภัย สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยในปี 2568 กรมทางหลวงดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานกลับรถเคเบิ้ลแบบแนวโค้ง (Horizontal Curve Cable -Stayed Bridge) แห่งแรกของประเทศไทย บนทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ณ กม.8 – กม.9 พื้นที่บ้านหลุบเลา ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
กรมทางหลวงมีสะพานรวมกว่า 17,219 แห่ง เดิมสะพานกลับรถ (เกือกม้า) ถูกออกแบบให้มีเสาตอม่อกลางถนนเพื่อรองรับน้ำหนักโครงสร้าง แต่การก่อสร้างลักษณะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการจราจร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง เช่น อุบัติเหตุจากการชนเสาตอม่อกลางถนน ด้วยความสำคัญนี้ กรมทางหลวงจึงได้พัฒนานวัตกรรมสะพานกลับรถแบบเคเบิ้ล โดยนำเทคนิคการออกแบบจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ที่จังหวัดมุกดาหาร และสะพานเคเบิ้ลในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล
สำหรับนวัตกรรมสะพานกลับรถแบบเคเบิ้ลนี้ เป็นการพลิกโฉมแนวคิดการออกแบบสะพานกลับรถแบบดั้งเดิม โดยใช้หลักการออกแบบเชิงวิศวกรรมที่ทันสมัย ให้เคเบิ้ลรับน้ำหนักแทนเสาตอม่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับน้ำหนัก และลดการใช้เสาตอม่อกลางถนน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจราจรและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ระบบเคเบิ้ลรับแรงนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และลดอุบัติเหตุจากการชนเสากลางถนน แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เพิ่มทัศนียภาพที่สวยงาม และเปิดพื้นที่ด้านล่างสะพานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
อีกทั้งโครงสร้างยังถูกออกแบบให้รองรับยานพาหนะทุกประเภท ด้วยความยาวของสะพานที่ออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และชั้นดิน พร้อมรองรับการใช้งานในระยะยาว โดยคำนึงถึงความสวยงามทางสถาปัตยกรรม และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรมทางหลวงเลือกใช้เทคโนโลยีสะพานกลับรถเคเบิ้ลสำหรับโครงการนี้ คือ ข้อจำกัดด้านกายภาพของพื้นที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีเขตทางจำกัด และไม่มีพื้นที่บริเวณเกาะกลางถนนเพียงพอต่อการก่อสร้างเสาตอม่อแบบปกติ ทำให้การใช้เทคโนโลยีสะพานเคเบิ้ลเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและตอบโจทย์ลักษณะจำเพาะของพื้นที่ได้ดีที่สุด
ลักษณะการก่อสร้างโครงการ:
-สะพาน: เป็นสะพานกลับรถแบบเคเบิ้ล มีลักษณะโค้ง และมีความยาวรวมประมาณ 330 เมตร
-รูปแบบ: สะพานมีรูปแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร
-จุดเด่น: สะพานมีการออกแบบที่สวยงาม โดยมีการติดตั้งไฟประดับ LED เพื่อเพิ่มความสวยงามในยามค่ำคืน
“โครงการนี้ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 400 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายน 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน และแล้วเสร็จภายในปี 2571 สะพานกลับรถเคเบิ้ลแห่งนี้ จะเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดสระบุรี และเป็นต้นแบบให้กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ในอนาคต นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางหลวงที่ทั้งทันสมัย ปลอดภัย และมีความโดดเด่นทางวิศวกรรม”นายอภิรัฐกล่าว
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี