นางสาวโชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ประเมินว่า อุตสาหกรรมอาหาร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) มากถึงราว 1 ใน 4 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมในระดับต้นน้ำ (Upstream level) ของห่วงโซ่การผลิต เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่เกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ก๊าซมีเทนที่เกิดจากภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนาข้าว รวมไปถึงก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เครื่องจักรกลต่าง ๆ ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์และไร่นาอีกด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนซ้ำเติมให้ภาวะโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงไปอีก
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยมีความตระหนักรู้เรื่องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยพบว่าประเด็นเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุด จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวไทยในทุกช่วงวัย (Generation) ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในการพิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีความยั่งยืน โดยประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ 1) กระบวนการผลิตต้องเป็นมิตรและดูแลสิ่งแวดล้อม 2) มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และ 3) มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนว่าปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นราวครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทยพร้อมที่จะเปลี่ยนมาบริโภคโปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์
ผลสำรวจฯ พบว่า 47% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า หากมีตัวเลือกในตลาดก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการหันไปบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากโปรตีนจากพืชเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ การบริโภคโปรตีนจากพืชยังมีส่วนช่วยลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ขยะอาหาร อีกหนึ่งวาระเร่งด่วนของสังคมไทยสู่เป้าหมาย Zero waste คนไทยสร้างขยะอาหารสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกค่อนข้างมาก สะท้อนว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงแนวทางป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางคือในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการสูญเสียของอาหาร การคัดแยก รวมไปถึงการจัดการหรือสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะอาหารที่เกิดขึ้น โดยหนึ่งในกลไกการแก้ปัญหาขยะอาหารของภาครัฐ คือการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและนำไปสู่เป้าหมาย Zero waste ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ต้องปรับแนวคิดด้วยการเปลี่ยนให้วิกฤติขยะอาหารกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่สร้างรายได้เพิ่มเติม
อนาคตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มยังเต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทายอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนแนวคิดและโมเดลการทำธุรกิจเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องความยั่งยืน ดังนั้นกระบวนการผลิตสินค้าในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่การผลิต จะต้องมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) รวมทั้งจะต้องมีการบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนร่วมด้วย
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี