ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 31,736.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผลกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว 1,871.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.6 ส่วนกำไรจากการลงทุนสุทธิเท่ากับ 1,799.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 ทำให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 3,670.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และมีกำไรสุทธิ 3,059.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 คิดเป็นกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 28.74 บาท และบริษัทฯ ยังคงสามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับสูงหรือ Credit Rating A- (Stable) (ณ ต.ค. 67) โดย Standard & Poor’s (S&P) สถาบันการจัดอันดับทางการเงินชั้นนำของโลกได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามปัจจุบันกรุงเทพประกันภัยเป็นบริษัทย่อยที่สร้างรายได้หลักให้แก่ บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH ซึ่งประกอบธุรกิจผ่านการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมุ่งลงทุนในธุรกิจหลักด้านการประกันภัยและธุรกิจอื่นที่หลากหลายและมีศักยภาพ สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) บีเคไอ โฮลดิ้งส์ มีรายได้รวม 23,422.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการรับประกันภัย 21,481.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 และมีรายได้จากการลงทุน 1,940.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.0 โดยมีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 1,854.8 ล้านบาท และรายได้สุทธิจากการลงทุนเท่ากับ 1,802.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7 ทำให้มีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 3,657.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 3,046.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 คิดเป็นกำไรต่อหุ้นส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 28.61 บาท สำหรับการจัดสรรเงินปันผลในปี 2567 บริษัทฯ จัดสรรเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วอัตราหุ้นละ 11.25 บาท และในงวดสุดท้ายของปี 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเสนอให้จ่ายเงินปันผล หุ้นละ 5.75 บาท รวมจ่ายเงินปันผลทั้งปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 17 บาท โดยมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ร้อยละ 5.84
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2568 สมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 2.91-2.95 แสนล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตมาจากการเร่งขยายโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จากเงินลงทุนภาครัฐ ประกอบกับประกันภัยสุขภาพที่เติบโตจากการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่นำไปสู่โรคประจำฤดูกาล ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงปัจจัยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ด้านตลาดบ้านที่อยู่อาศัย ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนตระหนักถึงการประกันความเสี่ยงภัยดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมและลมพายุ
อย่างไรก็ตาม จากสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนผนวกกับภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย จากผลกระทบด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะเดียวกันความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ส่งผลต่อเนื่องมายังยอดจำหน่ายสินทรัพย์ เช่น บ้านและรถยนต์ ยังเป็นปัจจัยที่ชะลอการเติบโตของเบี้ยประกันอัคคีภัยและประกันภัยรถยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มแรงกดดันต่อการค้ากับประเทศจีน และส่งผลให้สินค้าจากจีนทะลักเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่แนวโน้มการแข่งขันด้านราคาจะรุนแรงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่ความผันผวนของราคาและทุนประกันภัยที่บริษัทประกันวินาศภัยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
โดยในปี 2568 นี้ จะเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญที่จะสร้างโอกาสใหม่ในการขยายธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง พร้อมยกระดับองค์กรให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ภายใต้แนวคิด Distinguished Excellence มุ่งสร้างความเป็นเลิศที่โดดเด่นและแตกต่าง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ ควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการบริการที่ตรงใจ นำเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชันมาเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงาน พร้อมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถรอบด้าน
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2568 กรุงเทพประกันภัยได้ตั้งเป้าหมายด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 34,200 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 8.0 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 14,700 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์หรือ Non-Motor 19,500 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุด ทั้งในด้านความสะดวก รวดเร็ว และความพึงพอใจสูงสุดในทุกการบริการ
นางสาวปวีณา จูชวน ผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า กรุงเทพประกันภัยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าในทุกมิติ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและสร้างความประทับใจ โดยบริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายด้าน เพื่อยกระดับการบริการสู่การเป็น “Service Excellence” ให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจสูงสุด ดังต่อไปนี RPA (Robot Process Automation) เทคโนโลยีที่บริษัทฯ ใช้มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อช่วยให้ระบบทำงานอัตโนมัติ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดขั้นตอนซ้ำซ้อนและข้อผิดพลาด ส่งผลให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ โดยในปี 2568 นี้ บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยี RPA และ AI OCR (Optical Character Recognition) เข้ามาใช้ร่วมกัน ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของระบบงานต่างๆ ภายในองค์กรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีเวลาทำงานเพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นไปยังงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ และการติดต่อกับลูกค้า รวมถึงเป็นการส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร โดยบริษัทฯ จะนำ RPA และ AI OCR มาใช้ในหลายส่วน อาทิ ขั้นตอนการออกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ การออกใบสั่งงาน และการเปิดเคลม ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการทำงานได้ 450,000 Transactions ต่อปี และลดชั่วโมงการทำงานได้ถึง 35,160 ชั่วโมงต่อปี
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี